หนึ่งวันกับการกางเต็นท์ในโรงเรียน

วันจันทร์ที่ผ่านมา( 8 มีนาคม) เป็นอาทิตย์แรก ที่โรงเรียนในอังกฤษเปิดต้อนรับเด็กทั้งหมดกลับเข้าประตูโรงเรียนอีกครั้ง เอาจริงๆ โรงเรียนที่เราทำงาน ไม่เคยหยุดเลย เพราะโรงเรียนยังคงเปิดการเรียนการสอนไม่ว่าจะล็อกดาวน์ ครั้งแรก ครั้งที่สอง และครั้งทีสามหลังคริสต์มาส ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ คุณครูและผู้ช่วยครูทุกคนมาทำงาน เหมือนเป็นการเตรียมพร้อมรับเด็กกลับมาโรงเรียน เป็นเวลาสองสามอาทิตย์ หลังจากที่มาทำงาน สลับกันกันตามตารางเวลาและใช้เวลาทำงานที่บ้านตรวจงานเด็ก ซึ่งมันนรกมากๆ (เอาไว้เล่าขยายเพื่ออรรถรสครั้งหน้า)

เราเตรียมตัวพร้อมด้วยกางเกงแสลคสีดำเรียบร้อยและ เสื้อคอเต่าสุภาพ ส่วนในหัวนั้นหรือ คิดแผนการรับมือ กับเด็กที่ไม่ได้มาโรงเรียนเป็นเวลาอย่างต่ำสามเดือน หลังจากวันหยุดคริสต์มาส

การกลับมาโรงเรียนแบบเต็มตัว สิ่งที่คุณครูทุกคนกังวลมากอันดับหนึ่ง คือพฤติกรรมของเด็กๆ ยิ่งอากาศที่ฝนเทลงมาโครมๆแบบ เช้าวันนี้ ยิ่งทำให้เราต้องคิดหนัก ว่าจะรับมือความวุ่นวายยังไง? ทุกคนในอาชีพครูจะรู้กันว่า อากาศที่ฝนตกโครมๆ ลมพัดราวกับพายุ จะส่งผลให้เด็กวุ่นวายกว่าปกติ แต่แล้วทุกสิ่งที่คิดไว้ก็พลิกผิดคาด เมื่อเราเดินหิ้วกระเป๋าทำงานใบโตเข้ามาในโรงเรียนและสังเกตเห็นผู้ชายสองคนที่เดินอยู่ในลานกว้างนอกตึกเรียน ผู้ช่วยครูใหญ่ที่เห็นเรามองแล้วมองอีก เลยไขข้อสงสัยให้เรา

 “อ้อ วันนี้ ไม่มีการเรียนการสอน โรงเรียนส่งจดหมายไปก่อนปิดเทอมว่าทุกคนจะออกไปทำกิจกรรมข้างนอกทั้งวัน” 

“ดีนะคะ เปิดเทอมวันแรกไม่ต้องเรียน แต่ฉันไม่รู้ เลยไม่ได้ใส่รองเท้าผ้าใบมา” เราตอบกลับไปสั้นๆ ด้วยความที่เราถูกย้ายไปทำงานที่โรงเรียนอีกตึกช่วงลอคดาวน์  สรุปง่ายๆ ว่าหายไปจากวงจร...ตกข่าว

เรายืนมองฝนข้างนอกที่ยังตกลงมาอย่างอย่างเนื่อง  และ กังวลกับสภาพของกางเกงสแลคตัวที่ดีที่สุดในตู้เสื้อผ้าที่ใส่มาวันนี้ ไหนจะรองเท้าบูทครึ่งข้อ แต่ก็ยิ้มฟัง คำอธิบายของรองครูใหญ่ต่อไป

“ ปกติ ทุกคนจะไปทำกิจกรรรม ที่ Castle Shaw แต่เพราะมีโควิด เราเลย เอา Castle Shaw  มาที่โรงเรียนแทน”

จบข่าว...เรารีบเอากระเป๋าไปเก็บ ยัดกล่องอาหารกลางวันใส่ตู้เย็นไวๆ แต่ในหัวเราก็โล่งใจกับการไม่ต้องคิดมาก กับการรับมือกับเด็กวันแรก 

...

และแล้วสิ่งที่เราคิดไว้ก็ไม่ผิด...

ฝนที่เทลงมาที่ว่า ก็เปียกปอนมากแล้ว ผ่านไปได้ ครึ่งชั่วโมง กลับเทลงมาอย่างกับโกรธทุกคนที่ยืนอยู่ในสนามหญ้าตอนนี้ เต็มไปด้วยวงกลมสองวงจากนักเรียนทั้งชั้น ที่ยืนรอบล้อมเป็นวงกลม โดยมีผู้ช่วยครูหรือครูยืนแซมเป็นจุดๆ เพื่อ...อะแฮ่ม ช่วยเหลือเด็กๆ (ควบคุมการประพฤติอยู่กลายๆ) ขณะที่วิทยากรภาคสนามอธิบายกฎกติกาของกิจกรรมแต่ละอย่างให้เด็กๆ ฟัง

กิจกรรมที่จัดขึ้น ทำให้เรานึกถึง ตอนเราอยู่ในวัยคอซอง ที่ เข้าค่ายลูกเสือ เนตรนารี ยุวนารี  ต่างจาก วันนี้ เด็กๆ อยู่ในเสื้อผ้า ทำกิจกรรมกลางแจ้งของตัวเอง กางเกงยีนส์บ้าง เสื้อฮู๊ดบ้าง ทุกคนเตรียมพร้อมกับกิจกรรมตรงหน้า ผิดกับเหล่าคุณครูที่ยืนนิ่ง หลบอยู่ใต้เสื้อฮู๊ดกันฝนตัวหนาใหญ่ราวกับผ้านวมมัดของแต่ละคน สายฝนยังโหมกระหน่ำ ถ้าเป็นไปได้ นี่คือ สิ่งที่ทุกคนอยากหลีกเลี่ยงที่สุด...สายฝน กับลมหนาวแรงๆ ในเมืองหนาวๆ อย่างอังกฤษ 

เด็กทโมนที่วิ่งไปมากับเชือกในมือเมื่อผูกเงื่อนไม่ได้ เลยเริ่มก่อกอนเพื่อนคนอื่นแทน และความหนาวที่มากับฝน เมื่อยืนคุมเด็กๆ ร่วมชั่วโมง เรายืนคุมกลุ่มเด็กที่เราดูแล เมื่อมองดูสมาชิกแต่ละคนในทีม เราก็พอจะเห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างพอทุกคนได้กระเป่าเป้ที่มีอุปกรณ์สำหรับการการใช้ทักษะการผูกเชือก กางผ้าร่มให้เป็นเต็นท์ การแย่งของเชือกเส้นน้อยใหญ่ก็เริ่มขึ้น 

คนหนึ่งผูกเชือกได้ก็มัดเข้ากับต้นไม้โดยไม่ปรึกษาใครทั้งนั้น อีกคนก็มัดเข้ากับอีกต้นไม้ที่แคระแกรนที่อยู่อีกฝั่งตรงข้าม อีกคนก็ดึงเชือกจนตึงแล้วมัดเข้ากับรั้วโรงเรียน ที่เผอิญดึงต้นไม้แคระเจ้ากรรมเอียงกระเท่เร่ไปด้วย ส่วนเด็กอีกสองสามคนยืนเฉยๆ เพราะไม่รู้จะทำอะไร

ถ้าเป็นเหตุการณ์ปกติ เราก็คงยืนอยู่ห่างๆ มองเด็กๆแก้ปัญหาเอง และใช้สถานการณ์ให้คัดเลือกผู้นำในกลุ่มแก้ปัญหากันเองแต่พอเราเห็นต้นไม้ที่ถูกดึงจนเอียง ผ้าร่มที่ห้อยต่องแต่ง เชือกที่พันกับต้นไม้ ยุ่งเหยิง และเด็กๆที่เริ่มทะเลาะกันเพราะแก้ปัญหาไม่ได้ เราเลยต้องเข้ามาช่วย แนะนำ และจัดแบ่งงานให้แต่ละคนมีส่วนร่วมในการผูกเต๊นท์ เราเริ่มใช้คำถามให้เด็กๆ ระดมความคิด

“ไหน เธอลองดึงเชือกให้ตึงดูสิ ว่าความยาวพอมั้ย”

“เอาหมุดออกมา แล้วลองไปปักกับเชือกดูนะ ว่ายึดกับพื้นได้มั้ย” 

“อันนั้น มันผูกสูงไปหน่อย ลดลงหน่อยได้มั้ย เดี๋ยวหลบฝนไม่ได้” 

พอทุกอย่างเริ่มลงตัวมากขึ้น เราก็ปล่อยให้เด็กๆ ตกลงกันเองต่อไป ส่วนเราน่ะหรือ กลายเป็น คนปักหมุดเต็นท์ คุกเข่า ผูกเชือก แก้เชือกอิรุงตุงนังที่เด็กๆ ยื่นให้ เมื่อทุกอย่างดูเหมือนจะลงตัวแล้ว เราก็เห็นเด็กๆ ยืนมองผลงานตัวเองใต้สายฝน และเริ่มทยอย เอาเสื้อหนาวของตัวเองวางเป็นเบาะรองนั่งจากดิน

คนหนึ่งเองหลังพิงต้นไม้ที่ผ้าเต้นท์ผูกไว้ อีกสองสามคนเข้าไปซุกตัวใต้เต็นท์ที่มาจากน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง ครูคนอื่นเดินผ่านมา และ หยุดมองภาพตรงหน้าไม่ต่างจากเรา เด็กๆ ดูสบายมาก บางคนเริ่มเอนตัวนอนคุยกับเพื่อนๆ ส่วนเด็กผู้ชายทะโมนๆในกลุ่ม วิ่งไปป่าวประกาศถึงเต็นท์คนอื่นให้มาดูเต็นท์ของตัวเอง และพอเด็กกลุ่มเราออกจากเต็นท์ไปทำกิจกรรมอื่น เราก็มีเด็กกลุ่มอื่นขอมานั่งพักในเต็นท์ของกลุ่มเรา 

เสื้อผ้าของเด็กๆ มอมแมมไปด้วยดิน โคลนที่กวาดกับพื้นเป็นหมอนรองนั่ง กางเกงสแลคของเราก็ดำ กระด่างไปด้วยโคลนที่ก้มๆ เงยๆ ผูกเชือกเต็นท์ให้เด็กๆ ไม่ต่างกัน บูทหนังที่หุ้มข้อเท้าทั้งเปียก หนาว ชื้น เฉอะแฉะด้วยโคลนแต้มเป็นจุดๆ แต่พอเราได้เห็น ภาพที่เด็กๆ นั่งเอนตัวพิงต้นไม้ใต้เต็นท์ หัวเราะคิกคักกับเพื่อนที่นั่งหลบฝนด้วยกัน

โมเม้นต์เล็กๆ แบบนี้ เป็นอีกวันหนึ่งวันที่เรากลับบ้านอย่างมีความสุข และมีเรื่องเล่าอมยิ้มให้สามีฟังเมื่อกลับถึงบ้าน

ภาพประกอบจากการสเก็ตซ์คร่าวๆ จากความทรงจำบนเศษกระดาษขาดวิ่นในกระเป๋าสะพายข้างตัว เด็กทุกคนโดนจัดกลุ่มเป็น สี่ห้ากลุ่มย่อยๆ เพื่อทำกิจกรรม วันนั้น เสื้อผ้าเด็ก ยับเยิน   เราเองก็ไม่ต่างกัน แต่ รอยยิ้มของเด็กๆ ที่นั่งซุกตัวใต้เต็นท์ หลบฝน เป็นภาพที่เราคิดว่า นี่ล่ะ คือ จังหวะเวลาเล็กๆ เป็นเวทมนตร์เล็กๆ ที่ทำให้เรามีความสุขกับการทำงานในโรงเรียน

  • by กิตติยา แอนดรูว
  • | Lifestyles
OTHER POSTS FROM