เทศกาลอาหารนานาชาติพันธุ์ - ไม่มีพรมแดนเชื้อชาติและศาสนาใดมาขวางกั้นการทำดี

Multietnic food festival in Italy
โปสเตอร์โฆษณาเทศกาลอาหารนานาชาติพันธุ์ เลือกชิมอาหารได้ 10 ชนิด+เครื่องดื่ม ในราคาผู้ใหญ่ 15 ยูโร เด็ก 10 ยูโร 

เทศกาลอาหารนานาชาติพันธุ์ - ไม่มีพรมแดนเชื้อชาติและศาสนาใดมาขวางกั้นการทำดี

อาหารการกินเป็นเรื่องใหญ่ ไม่มีเทศกาลไหนจะทำให้ผู้คนมารวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนได้มากเท่ากับเทศกาลอาหารเป็นไม่มี ยิ่งช่วงฤดูร้อนประจวบกับปิดภาคการศึกษา อากาศกำลังดีเหมาะกับการเดินเที่ยวเล่น ช่วงเวลานี้หลายเมืองจัดเทศกาลอาหาร Street Food สลับกันไปมา เป็นกิจกรรมที่มีสีสันคึกคักช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวหลากหลายประเทศที่เดินทางมาพักผ่อนในช่วงเวลานี้

เทศกาลอาหารนานาชาติพันธุ์นี้ จัดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม วันไหนก็ได้ที่ฝนไม่ตก อ้าว...จริงนะ ฝนตกฤดูร้อนไม่ใช่เรื่องธรรมดา ฝนดุและกราดเกรี้ยวมาก รวมกับลมแรงน้องๆพายุ วันดีคืนดีก็มีลูกเห็บตกลงมาร่วมวงด้วย หลังจากทีมจัดงานอ่านคำพยากรณ์ลมฟ้าอากาศล่วงหน้ามาเป็นเวลาเกินครึ่งเดือน ก็ได้นัดแนะว่าจะจัดงานเทศกาลอาหารนานาชาติพันธุ์ขึ้นในวันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมานี้ ก็มีงานเทศกาลอาหารนานาชาติพันธุ์ สถานที่จัดงานในศูนย์กิจกรรมคริสตศาสนิกชน เมืองแดรวิโอ ตั้งแต่เวลา 19.30 - 21.30 น. เปิดให้โทรสำรองที่นั่งล่วงหน้า มียอดจองรวมทั้งหมด 140 ที่นั่ง และเผื่อให้ Walk-in เล็กน้อยเท่านั้น ตามโปรแกรมคือชิมอาหาร 10 ชนิด+เครื่องดื่ม สนนราคาผู้ใหญ่ 15 ยูโร เด็ก 10 ยูโร

วัตถุประสงค์ของเทศกาลอาหารนานาชาติพันธุ์

เทศกาลอาหารนานาชาติพันธุ์นี้ต่างจากงานเทศกาลอาหารอื่นๆ ที่เคยจัดขึ้นในเมืองแดรวิโอ ตรงที่เป็นงานบุญงานกุศล มีจุดเริ่มต้นจากจิตศรัทธาของคริสตศาสนิกชนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการรวบรวมเงินบริจาคไปสนับสนุนบาทหลวงมิเคเล่ ที่เดินทางไปปฏิบัติภารกิจในทวีปแอฟริกา การบริจาคเงินทองหรือสิ่งของดูเป็นเรื่องธรรมดาไป เพราะทุกคนก็บริจาคกันไปอยู่แล้ว คริสตศาสนิกชนกลุ่มนี้เลยช่วยกันคิดโครงการเก๋ๆ เพื่อไม่จำกัดขอบเขตอยู่แค่กลุ่มผู้นับถือคริสตศาสนาเท่านั้น โครงการความร่วมมือนี้จึงใช้ธีมงานเทศกาลอาหารจากนานาชาติพันธุ์ขึ้น ชนกลุ่มน้อยหลากหลายเชื้อชาติที่อาศัยในเมืองแดรวิโอ ต่างได้รับคำเชื้อเชิญและทาบทามมามีส่วนร่วมด้วยทั้งหมด

เมื่อถึงเวลานัดหมายสำคัญเพื่อนๆ ต่างชาติต่างภาษา ชาวอียิปต์ ชาวโมรอคโค ชาวเปรู ชาวยูเครน ชาวสวิสฯ ชาวอัลบาเนีย ชาวเม็กซิกัน ชาวไนจีเรีย ชาวเซเนกัล ชาวจีน และชาวไทย ต่างคนต่างหอบหิ้วหม้อข้าวหม้อแกง สำรับอาหาร มาช่วยกันตักเสริฟอาหาร ทำหน้าที่อธิบายวัตถุดิบและวิธีการปรุงอาหารแต่ละชนิด

Chinese Food in Multi-Ethnic Food Festival

Thai Food in Multi-Ethnic Food Festival

Multi-Ethnic Food Festival at Dervio, Italy

Multi-Ethnic Food Festival at Dervio, Italy

รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย(ที่อาจจะเป็นค่าเครื่องดื่มและวัตถุดิบบางอย่าง) จากการขายตั๋วเข้าชิมอาหารในเทศกาลอาหารหลากหลายชาติพันธุ์นี้  ก็จะมอบให้กับบาทหลวงมิเคเล่ เพื่อนำไปปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือผู้คนที่เดือดร้อนในประเทศแซมเบีย ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ทิศตะวันออกติดประเทศแองโกลา และทิศใต้ติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

ทำความรู้จักกับประเทศแซมเบีย

ประเทศแซมเบียเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก สินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศแซมเบียก็คือทองแดงเพียงอย่างเดียว รัฐบาลจึงพยายามส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ ด้วยการสนับสนุนภาคการเกษตรให้มีการปลูกข้าวโพดที่เพียงพอในการบริโภคภายในประเทศ แซมเบียมีดินที่อุดมสมบูรณ์ มีปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อการเพาะปลูก จึงมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งอาหารในกลุ่มประเทศสมาชิก SADC (The Southern African Development Community - ประชาคมเพื่อการพัฒนาแห่งอนุภาคแอฟริกาตอนใต้)

นอกจากนี้รัฐบาลยังสนับสนุนการท่องเที่ยว มีการผุดขึ้นของรีสอร์ตและโรงแรมต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐานสากล มีการส่งเสริมการทำเหมืองอัญมณี และสนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้า รัฐบาลของประเทศแซมเบียมีเป้าหมายลดความยากจนและส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพ ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น สิ่งที่น่าทึ่งคือ การปรับลดจำนวนตำแหน่งรัฐมนตรี ตรึงการปรับขึ้นเงินเดือนของข้าราชการไม่ให้สูงกว่าอัตราการขยายตัวของ GDP งบประมาณค่าใช้จ่ายต่างๆ จะนำไปใช้ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการลดความยากจน โครงการเกี่ยวกับการศึกษา และโครงการสาธารณสุข

เรื่องเล่าจากบาทหลวง

ปิดท้ายด้วยของหวานที่ชาวอิตาเลียนพร้อมใจกันหอบหิ้วมาช่วยงาน เสริฟเป็นของกำนัลทั่วถึงทุกโต๊ะ เรียกได้ว่าทั้งอิ่มบุญและอิ่มท้องกันเลยทีเดียว ก่อนจากกันในค่ำคืนนั้นตามธรรมเนียม บาทหลวงมิเคเล่กล่าวขอบคุณผู้มีส่วนช่วยเหลือทุกคน และเรื่องเล่าเกี่ยวกับที่มาของการให้ความช่วยเหลือก็เริ่มต้นขึ้นที่...ภูมิประเทศส่วนใหญ่ของประเทศแซมเบียเป็นที่ราบสูงมีเนินเขาและภูเขา มีความชื้นสูง และมีฝนตกชุกมากตลอดทั้งปี ไม่ว่าฤดูกาลไหนก็เจอแต่ฝน ฝน และฝน ผลพวงของฝนตกชุกก็คือน้ำท่วม และสิ่งที่มากับนำ้ท่วมก็คือจระเข้ ฟังมาถึงตอนนี้เราก็แอบนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง Alligator ที่นั่งลุ้นกันทั้งเรื่องว่าจะวิ่งหนีจระเข้ได้ทันไหม? ไม่ได้อยู่แค่ในนำ้ด้วยนะ ในป่าในทุ่งหญ้าจระเข้ก็มาล่าเหยื่อ แถมคลานเร็วมากด้วย…แม่เจ้า ภารกิจในการช่วยเหลือผู้ยากไร้ในประเทศแซมเบียของบาทหลวงมิเคเล่ จึงเริ่มต้นด้วยการทำเรือชักรอกข้ามแม่นำ้ ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อช่วยชีวิตชาวแซมเบียไม่ให้เสี่ยงชีวิตกับกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากและ “จระเข้” นักล่าที่มากับสายน้ำ หลังจากสร้างเรือชักรอกแล้ว  บาทหลวงมิเคเล่ยังขยายความคืบหน้าในการสร้างโรงเรียนและโบสถ์ที่มีทีมวิศวกรอาสามาสร้างให้ฟรีๆ ไม่คิดค่าแรง คนใจบุญใจกุศลนี่มีอยู่ทุกพื้นที่ทั่วโลกเลยเนอะ นั่งฟังไปก็ปลื้มปีติยินดีกับภารกิจที่ราบรื่นของบาทหลวงมิเคเล่ 

ในตอนท้ายก่อนอำลาจากกัน บาทหลวง มิเคเล่ กล่าวคำเชิญชวนพวกเราในที่นั้นให้ไปเยี่ยมเยือนท่านที่ประเทศแซมเบีย พวกเราชาวไทยก็สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวและพำนักได้เป็นเวลา 30 วันโดยไม่ต้องขอวีซ่า แล้วค่ำคืนที่อิ่มบุญอิ่มใจก็ผ่านพ้นไป ตั้งตารอปีหน้าที่จะมาถึงและเรื่องเล่าเกี่ยวกับชาวบ้านที่แซมเบียจากบาทหลวงมิเคเล่

เราเชื่อว่าขอแค่มีกุศลจิตและศรัทธาเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าจะทำกิจการงานบุญของศาสนาใด ล้วนเป็นการทำความดีทั้งสิ้น ดังนั้นเชื้อชาติและศาสนาจึงไม่ใช่พรมแดนขวางกั้นผู้คนที่ประสงค์จะกระทำคุณงามความดี

OTHER POSTS FROM