ความทรงจำจากหัวใจดวงเดิม

ตอนที่เห็นหัวข้อ “สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่รู้สึก” บอกได้คำเดียวว่ามีความรู้สึกเยอะแยะมาก ความรู้สึกแรกที่รู้ว่าสอบได้คณะนี้ คือ มึน และ เกินความคาดหวัง ประเมินตัวเองว่าคะแนนสอบระดับกลางๆค่อนข้างต่ำอย่างเรา น่าจะสอบติดคณะมนุษยศาสตร์ สาขาปรัชญาและศาสนา ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยานี่เขาเรียนเกี่ยวกับอะไรกันนี่ พยายามหาคำตอบจากหนังสือแนะนำคณะต่างๆที่ได้มาก่อนสอบเอนทรานซ์ แต่ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจอยู่ดี แค่งงตัวเองยังไม่เท่าไร

หลังจากรู้ข่าวการสอบของเรา อาซึ่งเรียนจบจากคณะสังคมสงเคราะห์ก็มาบอกให้เราทำเรื่องขอย้ายคณะไปเรียนสังคมสงเคราะห์ ยิ่งเป็นการตอกย้ำและเพิ่มความระส่ำระสายภายในจิตใจให้กับเรามากยิ่งขึ้นไปอีก การสอบได้คณะฯนี้มันคลุมเครือและมีอนาคตที่ไม่ชัดเจนมั่นคงขนาดนั้นเลยหรือนี่ นึกหวาดหวั่นในใจแต่ถ้าต้องไปเรียนสังคมสงเคราะห์หนูก็คงไม่ไหวนะคะอา เพราะรู้ตัวว่าไม่ใช่นางเอกนิยายเรื่อง “ปุลากง”แน่ๆ ด้วยความเคารพนะคะอา หนูขอลองเสี่ยงเรียนกับคณะฯนี้ไปก่อนดีกว่าค่ะ

ณ จุดนั้นรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังเดินบนสะพานเชือกเพื่อข้ามผ่านหุบเหว ไปยังเนินเขาเขียวชอุ่มเบื้องหน้า เชือกแกว่งไกวและหัวใจที่วูบไหวไปมาทุกก้าวที่เท้าเหยียบย่างลงไป และแล้วเราก็มาหาคำตอบ ด้วยการเข้าสอบสัมภาษณ์ ยังจำได้จนทุกวันนี้ว่าท่านอาจารย์นันทา เป็นผู้สัมภาษณ์เรา ท่านถามว่าชอบอ่านหนังสือพิมพ์คอลัมน์ไหนมากที่สุด เราตอบโดยไม่ต้องคิดเลยว่าคอลัมน์การศึกษา อาจารย์ก็ให้เราเล่าข่าวที่เราอ่านมาให้อาจารย์ฟัง

การปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ทำให้ได้รู้จักอาจารย์หลายๆ ท่าน ที่ให้การต้อนรับพวกเราอย่างอบอุ่น ตอนนั้นเรารู้สึกว่าเราชอบคณะเล็กๆคณะนี้แล้วล่ะ นักศึกษารุ่นเรารวมกันทั้งหมดประมาณเกือบ 70 คนเอง ทำให้พวกเราได้รู้จักกันทั่วถึง หลังจากเข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษา รศ.พรชัย ตระกูลวรานนท์ เพื่อจดตารางเรียนภาษาอังกฤษและภาษาไทยแล้ว ก็สามารถไปเลือกวิชาที่สนใจและอยากจะเรียนเอง….ยะฮู้…เป็นมิติการศึกษาแบบใหม่ที่ไม่ได้ถูกบังคับเหมือนสมัยเรียนชั้นประถมและมัธยมศึกษา…เป็นก้าวแรกที่รู้สึกว่าได้มีโอกาสเลือกเรียนในสิ่งที่สนใจ

ปีแรกของการศึกษาก็เลยจัดไปตามความสนุกสนานทั้งการลงทะเบียนเพิ่มและการถอนวิชาที่เรียนไม่สนุก คะแนนเรียนในปีแรกไม่ค่อยดีนักเพราะยังลองผิดลองถูกอยู่ ยังจับทางที่ตัวเองชอบและถนัดจริงๆไม่ได้สักที แต่ก็ยังมีโจทย์ใหญ่และสำคัญยิ่งไปกว่านั้นที่กำลังรอให้เราเลือกตัดสินใจ เราจะเลือกเรียนสาขาอะไรดี? เราจะเลือกเรียนสาขาอะไรดี สาขาสังคมวิทยา สาขามานุษยวิทยา หรือสาขาสังคมและมานุษยวิทยารวมกัน

พยายามอ่านรายละเอียดวิชาโดยสังเขปจาก คู่มือนักศึกษาระดับปริญญาตรี ในสมองตอนนั้นเริ่มเอนเอียงมาทางสาขามานุษยวิทยา แม้จะยังมองไม่เห็นภาพชัดเจนนักในเรื่องเนื้อหาและรายละเอียดของวิชา ครุ่นคิดหาคำตอบไป ในระหว่างที่สองเท้าก็พาก้าวไปยังศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาท่าพระจันทร์ ลองเดินหาหนังสือในหมวดด้านมานุษยวิทยา แล้วก็ได้พบกับหนังสือ “สืบสายเลือด”: รวมเรื่องสั้นทางมานุษยวิทยา แปลโดย ท่านอาจารย์ยศ สันตสมบัติ แค่เปิดอ่านเพียงคร่าวๆก็รู้ตัวเลยว่า...

นี่คือ “รักแรกพบ” และความรู้สึกตอนนั้นคือจะต้องครอบครองความรักครั้งนี้เอาไว้ให้ได้ หลังจากชำระค่าหนังสือเป็นที่เรียบร้อยก็เดินตัวปลิวขึ้นรถเมล์กลับบ้าน พลิกอ่านรวดเดียวทั้งเล่ม จากคำในประโยคแรกจนถึงตัวอักษรสุดท้าย หนังสือเล่มนี้เปิดโลกและมุมมองใหม่ให้กับเรา ดวงตาเป็นประกายระยิบระยับ หัวใจเต้นเร่าๆความอยากรู้ อยากเห็น อยากเสาะแสวงหาโลกภายนอก อยากรู้จักสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างจากเรา มีเพิ่มมากขึ้นอีก บางบททำให้น้ำตาหลั่งรินเพราะความสะเทือนใจ บางบททำให้รู้สึกหวาดกลัวกับด้านมืดภายในจิตใจของผู้คน รวมทั้งด้านมืดในจิตใจของนักมานุษยวิทยาผู้ศึกษาเองเช่นกัน อ่านจบเราตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้านักมานุษยวิทยาศึกษาสังคมและวัฒนธรรมของตัวเอง เขาต้องแยกตัวเองเป็นกี่ฐานะและบทบาทกันแน่ นักมานุษยวิทยาจะมีอารมณ์ความรู้สึกอ่อนไหว หรือ มีอคติบ้างไหม?

ช่วงนั้นเพื่อนๆร่วมรุ่นในคณะฯ เลือกเรียนสาขาสังคมวิทยาเป็นส่วนใหญ่ (ประมาณหกสิบกว่าคน) มีพวกเราเพียง 3 คนเท่านั้นที่เลือกเรียนสาขามานุษยวิทยา และอีก 1 คนที่เลือกเรียน สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาอย่างละครึ่ง สาขามานุษยวิทยาในความรู้สึกของเราตอนนั้นเสมือนชนกลุ่มน้อยที่ใกล้จะสูญพันธ์อย่างช่วยไม่ได้ การเรียนการสอนมีปัญหาติดขัดบ้าง เพราะนักศึกษามีจำนวนน้อย แม้อาจารย์จะอนุโลมจำนวนต่ำสุดที่ 5 คน แต่ถ้ามีคนลงทะเบียนไม่ถึงก็ต้องปิดวิชานั้นไปอย่างน่าเสียดายที่สุด กระนั้นก็ตามเราก็ยังโชคดีที่ได้เลือกเรียนวิชาตามความสนใจที่หลากหลายมากๆ (แอบไปนั่งไล่ดู Course description วิชาอื่นๆ ที่ไม่ได้เรียน ก็ยังรู้สึกอยากจะกลับไปนั่งเรียนอีกล่ะ)

วิชาที่ชื่นชอบ วิชา Folklore บรรยายโดย รศ.ผ่องพันธุ์ มณีรัตน์ เป็นวิชาที่เราชอบมาก คงเพราะชอบอ่านนิทานเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็เลยชอบการตีความสัญลักษณ์ในนิทานด้วย วิชานี้เรามาสายประจำ บางทีเข้ามาเจอ Test เลย ทำได้ดีทุกครั้งจนเพื่อนๆ(ผู้ชาย)หมั่นไส้ ว่าทำได้ยังไง? ไม่ค่อยเข้าเรียน มาก็สายยังได้คะแนนดีอีก…ตอบตรงนี้เลยว่าไม่รู้เหมือนกัน คงจะเป็นเรื่องบังเอิญมากกว่านะ

วิชา Introduction to Archaeology และ วิชา Archaeology of Thailand บรรยายโดย อาจารย์ปฐมฤกษ์ เกตุทัต สองวิชานี้ทำให้เราเริ่มมองเห็นความเกี่ยวพันกันของวิทยาศาสตร์กับมานุษยวิทยาที่สามารถทำงานไปในแนวทางกันได้ ร่องรอยของกระโหลกศีรษะที่ถูกเจาะให้เป็นรูและมีการเชื่อมต่อของกระโหลกศีรษะใหม่อีกครั้ง บอกอะไรกับเราบ้าง หรือแม้แต่ร่องรอยที่ปรากฎบนกระดูก บ่งบอกว่าเจ้าของโครงร่างเคยเจ็บป่วยด้วยโรคอะไร และโรคอะไรที่คร่าชีวิตพวกเขาให้จากไป ภาชนะดินเผาที่ถูกทุบให้แตกวางรายรอบบริเวณที่เป็นหลุมฝังศพ บ่งบอกอะไรกับเราได้บ้าง สองวิชานี้ทำให้เราดื่มด่ำย้อนกลับไปในยุคก่อนประวัติศาสตร์ เกิดความสนใจอย่างแรงกล้าที่อยากจะไปสัมผัสประสบการณ์การทำงานโบราณคดีภาคสนามสักครั้งหนึ่ง

วิชา Medical Anthropology บรรยายโดย ผศ.ดร.สมจินตนา รัตรสาร ที่นำพวกเราไปรู้จักอินเดียนแดงเผ่าต่างๆในทวีปอเมริกา พิธีกรรมการรักษาการเจ็บป่วยของพ่อมดหมอผีประจำเผ่า โรคแปลกๆที่ระบบประสาทส่วนกลางไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ ทำให้มีลักษณะการเดินที่ผิดปกติเสียสมดุลในการทรงตัว คล้ายๆซอมบี้ กล้ามเนื้อกระตุกเหมือนเป็นพาร์คินสัน เกิดจากการที่มนุษย์กินมนุษย์ด้วยกันเอง หรือ กินซากศพของมนุษย์ อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน รวมถึงพิธีกรรมความเชื่ออื่นๆของไทย ได้แก่ การทำคุณไสย การทำเสน่ห์ยาแฝด

วิชา Primates and Human Evolution บรรยายโดย ศ.ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ รูปร่างความแตกต่างของกระโหลกของบรรพบุรุษของมนุษย์ ลักษณะของฟันและขากรรไกร กระโหลกเนื้อคิ้วและกระบอกตามีความสัมพันธ์กับลักษณะอาหารที่กิน ข้อต่อบริเวณกระดูกเชิงกรานบ่งบอกว่าลักษณะการยืนตัวตรงหรือเหยียบพื้นดินเต็มฝ่าเท้าไหม เป็นวิชาที่เรียนไปแล้วก็จะเผลอหยิบกระจกขึ้นมาส่องดูลักษณะของฟันตัวเอง หรือ จับคางและขากรรไกรตัวเองไปด้วย…แอบสงสัยว่าเราต่างกับ ape อย่างที่อาจารย์บอกจริงหรือเปล่า? วิชานี้ตอนที่เรียนไม่ได้มีอะไรให้จำมาก พอมาอ่านบทความวิชาการด้านนี้ล่าสุดพบว่ามีถึง 11 สปีชี่ส์ใหม่ที่เพิ่งค้นพบได้ไม่นาน การศึกษาแนวทางนี้ยังไม่เสถียรแต่ก็มีความน่าตื่นเต้นตลอดเวลาว่าเราจะได้พบหลักฐานอะไรใหม่ๆไหมที่จะอธิบายความเชื่อมต่อของวิวัฒนาการมนุษย์ เสียดายมากที่สาขามานุษยวิทยากายภาพในบ้านเราไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไรนัก สาขาที่แยกย่อยไปจากสาขามานุษยวิทยากายภาพ ก็น่าจะเป็น Forensic Anthropology ถ้าใครชอบดูซีรี่ส์ประมาณ Criminal mind หรือ C.S.I ทั้งหลาย จะได้เห็นการทำงานของนักมานุษยวิทยาสาขานี้ แอบคิดเล่นๆว่า ถ้าคณะเราจับมือกับคณะแพทยศาสตร์ คงจะเกิดสาขานี้ขึ้นประดับวงการมานุษยวิทยาในเมืองไทย

วิชา Ecology, Genetic Variations and Adaptation in Human Population บรรยายโดย ศ.ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ สนุกดีตรงที่ได้เรียนรู้ว่าความผิดปกติบางอย่างบนยีนส์บางตำแหน่ง ทำให้เกิดโรคที่อาจจะคร่าชีวิตของมนุษย์เอง แต่ในทางกลับกันโรคที่เป็นนั้นอาจจะช่วยป้องกันให้มนุษย์รอดพ้นจากการเป็นโรคอื่นที่อันตรายมากกว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสภาวะแห่งโรค

วิชา Cultures of Ethnic Groups in Thailand รศ.ยุพา คลังสุวรรณ ได้กรุณานำพวกเราไปลงพื้นที่ภาคสนามจริง คลุกคลีจริงๆกับชนกลุ่มน้อยทางภาคเหนือของประเทศไทย ได้เรียนรู้ชีวิตและวัฒนธรรมจริงจากคำถามของพวกเราเอง ได้สัมผัสบรรยากาศและอากาศเดียวกับที่พวกเขาหายใจ ได้รับประทานอาหารแบบที่พวกเขารับประทานกันจริงๆ ไม่ต้องจินตนาการเรื่องรสชาติให้วุ่นวายเหมือนการอ่านจากตำรา

เพื่อนดังๆประจำรุ่น ความภูมิใจประจำรุ่นของเราคือมีเพื่อนสองคนที่สร้างชื่อเสียงให้กับคณะเป็นอย่างมาก ไม่อาจละเลยกล่าวข้ามไปได้ เพื่อนคนแรกคือ หน่อย พรวรรณะศิริเวช หรือ บุษกร วงศ์พัวพันธ์ ในปัจจุบัน ตั้งแต่เข้าปีหนึ่งมา หน่อยเป็นดาวเด่นประจำคณะที่พี่ๆทาบทามให้เป็นเชียร์ลีดเดอร์คณะ และจากนั้นก็ถูกผลักดันเข้าประกวดเชียร์ลีดเดอร์มหาวิทยาลัย ซึ่งแน่นอน หน่อยผ่านฉลุย ทำให้คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาของพวกเรา เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาบ้างอย่างน้อยก็เพราะมีสาวงามประจำคณะนี่เอง

ตอนนั้นที่หน่อยก็เริ่มมีงานเข้ามา เพราะประกวดหนุ่ม-สาวแพรว และก็ได้รับตำแหน่งสาวแพรวในปีนั้น งานเดินแบบ งานถ่ายภาพแฟชั่น งานถ่ายโฆษณา มีเข้ามาเยอะแยะมากมาย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หน่อยจะต้องมีโทรศัพท์มือถือเพื่อติดต่องาน โทรศัพท์มือถือสมัยสักเกือบยี่สิบปีก่อน เพื่อนๆ น่าจะพอนึกออกว่ามันมีรูปร่างใหญ่โตประมาณไหน แต่รูปทรงประหลาดนั้นไม่ใช่ประเด็นเท่ากับท่ารับโทรศัพท์ของหน่อย ด้วยว่าสมัยนั้นนักศึกษาไม่ค่อยจะมีใครใช้โทรศัพท์มือถือกันมากนัก เวลาหน่อยรับโทรศัพท์เพื่อไม่ให้กลายเป็นจุดเด่นจนเกินไป หน่อยจึงใช้วิธีมุดลงไปในกระเป๋าใบใหญ่เพื่อคุยโทรศัพท์หรือไม่ก็มุดลงไปใต้โต๊ะรับประทานอาหารเพื่อคุยโทรศัพท์ ครั้งแรกที่เราเห็นเราก็ประหลาดใจ นึกว่าหน่อยทำอะไรตกหายหรือเปล่า ให้เราช่วยหาเอาไหม แต่พอรู้ความจริง รู้สึกอยากจะขำมากๆ เลย แต่กลัวเพื่อนเสียความมั่นใจ หลังๆ เวลาเห็นหน่อยมุดโต๊ะหรือมุดกระเป๋า ก็จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาและความเคยชินของพวกเราไป สมัยนี้ที่โทรศัพท์มือถือระบาดไปทั่ว แม้แต่เด็กประถมก็ยังมีคนละเครื่อง คิดว่าหน่อยคงไม่ต้องมุดกระเป๋า มุดใต้โต๊ะ เพื่อคุยโทรศัพท์แล้วล่ะนะ

เพื่อนอีกคนที่น่าทึ่งมากๆ ชื่อ บู หรือ บูรพา เล็กล้วนงาม ชายหนุ่มที่ดูแปลกๆ เราไม่ค่อยเข้าใจสายตาและท่าทางหัวเราะ “หึ หึ”ของบูสักเท่าไร เราไม่รู้ว่าบูกำลังคิดอะไรอยู่บ้าง เวลาที่บูเข้าชั้นเรียนภาษาไทยแล้วไปนั่งใกล้พัดลม เพื่อแกล้งสาวๆคณะวารสารฯ หรือ วันหนึ่งขณะที่เราทานข้าวกับเพื่อนๆในโรงอาหารกลาง อยู่ๆบูก็เดินมาบนโต๊ะอาหารที่ว่าง แล้วปีนขึ้นไปเต้นรำบนนั้น มิหนำซำ้ยังถอดเสื้อแล้วเหวี่ยงไปมาซะอีกแน่ะ

ชื่อเสียงของบู ขจรขจายไปทั่ว ตอนนั้นทุกคณะรู้จัก “บู” สังวิทย์ เป็นอย่างดี แค่แดนซ์เดียว บูดังขนาดนั้นเลย แต่ก่อนเวลาแนะนำตัวกับเพื่อนคณะอื่นๆบอกว่าว่าจากสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ไม่ค่อยมีใครรู้จักคณะนี้ พอหลังจากวีรกรรมแดนซ์บรรลือโลกของบู ทุกคนจะร้อง “อ๋อ…คณะเดียวกับ บูสังวิทย์ ใช่ไหม?” นับว่าเป็นข้อดีเหมือนกันที่ไม่ต้องแนะนำตัวเยอะแล้ว

มุมปลอดภัย เราไม่รู้ว่าเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ มีที่สิงสถิตย์อยู่ที่ไหนกันบ้าง นอกจากชมนุมดราม่า(ศิลปะและการแสดง) ชุมนุมวรรณศิลป์ ชุมนุมโฟล์คซอง ชุมนุมพุทธศาสนา ที่เราแวะเวียนไปแว้บๆแล้ว ที่ๆเราไปบ่อยที่สุดทุกวันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง(เหมือนกินยาเลยเนอะ) ก็คือห้องสมุดคณะฯ กับหอสมุดกลาง ห้องสมุดคณะฯเราไม่ค่อยได้นั่งหรอก ส่วนใหญ่ไปเลือกยืมหนังสือแล้วก็หอบกลับบ้านหรือไม่ก็ย้ายไปหอสมุดกลางมากกว่า เพราะอะไรน่ะเหรอ? ห้องสมุดคณะฯ เงียบเหงาเกินไป หรือ บางทีอาจจะได้จ๊ะเอ๋กับอาจารย์ ซึ่งเรากำลังแอบอยู่เพราะยังไม่ได้ส่งรายงานหรือยังเขียนร่างชิ้นงานให้อาจารย์ไม่เสร็จ (ใครจะรู้…บางทีอาจารย์ก็อาจจะแอบลูกศิษย์เหมือนกัน จะพักผ่อนอ่านหนังสือพิมพ์ อ่านข่าวสักหน่อย มันมาอีกแล้ว จะมาถามอะไรอีกล่ะวันนี้…5555) หลบไปนั่งหอสมุดกลางดีกว่า มีชีวิตชีวา มีสีสัน มีแรงบันดาลใจในการอ่าน พูดยังไงดีล่ะ เหมือนว่าเรามีเพื่อนอ่านหนังสือเยอะแยะเลย ก็ทำให้รู้สึกอยากอ่านเพิ่มมากขึ้นนะ ก็ไม่รู้สิ…คนอื่นอาจจะไม่คิดแบบเราก็ได้

อาศรมสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ที่พวกกลุ่มเพื่อนผู้ชายปักหลักและยึดครองเป็นส่วนใหญ่ มีชื่อเสียงมากในเวลานั้น เพราะเราแอบได้ยินสาวๆคณะอื่นเรียกว่า “สามแยกปากหมา” สาวคนไหนเดินผ่าน จะอ้วน ผอม สูง ดำ ล่ำ เตี้ย ก็โดนแซวถ้วนหน้ากันหมด ถ้าไม่อยากโดนแซวก็อย่าพยายามเดินผ่าน หรือเลี่ยงไปเดินฝั่งบนฟุตปาธที่ติดสนามฟุตบอลจะปลอดภัยจากสายตาเรดาร์ของชายหนุ่มคณะเราได้ แต่อาศรมฯก็เป็นที่ปลอดภัยของเราอีกที่หนึ่ง เพราะเสียงตะโกนแซวคนโน้นแซวคนนี้ของหนุ่มๆนี่ล่ะ ทำให้เรารู้สึกอบอุ่นว่าอย่างน้อยตรงหัวมุมคณะก็มีเพื่อนๆของเราอยู่ หากเกิดเรื่องไม่คาดคิดอะไรหรือเรื่องเดือดร้อนอะไร เราสามารถขอความช่วยเหลือจากเพื่อนที่จุดนี้ได้ แม้กระทั่งฝากข่าวหรือส่งข่าวถึงใคร เรามองว่าอาศรมฯเป็นทั้งแผนกฉุกเฉินและไปรษณีย์ของคณะฯนะ

ด้วยจิตคารวะ หัวใจสำคัญของคณะฯ คือ เหล่าคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ขอกราบขอบพระคุณคณาจารย์ทุกท่านที่ให้ความเมตตาและชี้นำเส้นทางแห่งปัญญาให้กับศิษย์เขลาผู้นี้ ระลึกถึงพระคุณของอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นท่านแรก รศ.พรชัย ตระกูลวรานนท์ ให้คำแนะนำปรึกษาทั้งด้านการศึกษาและการใช้ชีวิต กรุณาหางานเล็กๆน้อยๆให้ศิษย์ได้ฝึกปรือฝีมือในการทำงานวิจัย หาทุนเล็กๆน้อยๆให้ลูกศิษย์ทั้งหมดในระดับปริญญาโทได้เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางออกไปเก็บข้อมูลภาคสนามเพื่อเขียนวิทยานิพนธ์

อาจารย์ปฐมฤกษ์ เกตุทัต ที่ให้คำแนะนำปรึกษาในด้านการศึกษา รวมทั้งกรุณาเขียนจดหมายฝากฝังให้ศิษย์ได้มีโอกาสไปฝึกงานโบราณคดีภาคสนาม กับหน่วยศิลปากรที่ 1 จังหวัดลพบุรี แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆแต่ศิษย์ก็ได้เรียนรู้และได้รับประสบการณ์มากมายจากการฝึกงานในครั้งนั้น

รศ.ดร.สถิตย์ นิยมญาติ แม้อาจารย์จะไม่ได้พูดประโยคนี้โดยตรง แต่ประโยคที่อาจารย์พูดในชั้นเรียน กลับทำให้ศิษย์จดจำมาใช้จนทุกวันนี้ “คนเราถ้าไม่ทำอะไรใหม่ๆซะบ้าง ชีวิตก็จะเงียบเหงา น่าเบื่อหน่าย” ขอบพระคุณอาจารย์ที่คำพูดประโยคนี้ ทำให้ทั้งชีวิตของศิษย์ไม่เคยมีช่วงเวลาไหนที่เงียบเหงาและน่าเบื่อหน่ายเลยค่ะ

รศ.ยุพา คลังสุวรรณ อาจารย์เปิดโลกของมานุษยวิทยาภาคสนาม ให้สิทธิ์ได้มีโอกาสได้สัมผัสและเรียนรู้การทำงานจริง รวมทั้งการทำงานร่วมกับผู้อื่น การเตรียมตัวและการปรับตัวเมื่ออยู่ในสนามจริงของการเรียนรู้โลกกว้าง

ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล ขอบพระคุณอาจารย์ที่เป็นกำลังใจ ให้ข้อคิดในการดูแลตัวเองขณะลงภาคสนามเพื่อเก็บข้อมูล ในช่วงเวลาที่ศิษย์ท้อแท้และคิดที่จะล้มเลิกการเขียนวิทยานิพนธ์ ขอบพระคุณอาจารย์ที่อดทนกับลูกศิษย์ที่ดื้อดึงและขลาดเขลาคนนี้

ศ.ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ ขอบพระคุณอาจารย์ที่รับเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และอดทนกับความไม่มีมารยาทของลูกศิษย์ที่บุกส่งร่างวิทยานิพนธ์ถึงบ้านพัก ขอบพระคุณกับคำชมเล็กๆน้อยที่ทำให้ศิษย์หัวใจพองโต ด้วยการบอกว่าศิษย์ใช้ภาษาไทยได้ดีสละสลวย แต่แอบมีติว่าคำเชื่อมเยอะเกินไป ขอบพระคุณสำหรับกำลังใจที่มีให้กับศิษย์ในเวลาที่ศิษย์ท้อแท้ ด้วยคำปลอบใจที่ขึงขังที่ว่า “ถ้าคุณไม่สู้และยอมแพ้ตั้งแต่วันนี้ คุณจะไม่มีวันรู้เลยว่าคุณทำได้หรือไม่ได้ และความสงสัยนี้จะยังติดค้างอยู่ในใจคุณไปตลอดชีวิต” และเพื่อไม่ให้มีสิ่งติดค้างในใจ ศิษย์เลยเขียนวิทยานิพนธ์จนเสร็จในนาทีสุดท้ายจนได้ ขอบพระคุณอาจารย์ที่หลังเรียนจบ กรุณาให้งานศิษย์ได้ช่วยเก็บข้อมูลวิจัยเล็กๆน้อย และพาไปชิมอาหารร้านอร่อยๆหลายๆร้าน ตั้งแต่ท่าพระจันทร์ คลองหลอด ถนนพระอาทิตย์ รวมถึงปลาแม่น้ำตัวโต จึงไม่แปลกที่ตอนนี้ศิษย์มาเริ่มสนใจใน Anthropology of Food ซะแล้ว

ขอบคุณพี่วิชัย พ่อบ้านประจำโครงการปริญญาโท ที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับข้อบังคับของหลักสูตร การลงทะเบียน การนัดหมายอาจารย์ผู้สอน แม้พี่วิชัยจะขี้บ่นไปบ้างแต่ก็มีความปรารถนาดีอยากให้พวกเราเรียนจบถึงฝั่งฝันกันทุกคน พี่วิชัยดูแลพวกเราดีมากตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเท้าเข้าไปจนวันสุดท้ายที่ส่งวิทยานิพนธ์ จำได้แม่นว่าวันนั้นเป็นวันสุดท้ายของกำหนดส่งเล่มวิทยานิพนธ์ วันที่ 8 มิถุนายน 2541 หลังจากส่งเล่มให้อาจารย์ลงนามจนครบทุกท่านแล้ว พวกเราก็ทานข้าวเย็นด้วยกัน ไม่ลืมที่จะเชิญพี่วิชัยไปด้วย หลังจากนั้นเราขับรถกลับบ้านด้วยความที่อดนอนมาทั้งสัปดาห์เราขับรถไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ ขับคร่อมเลนตลอดเส้นทางเลย พี่วิชัยกลับบ้านทางเดียวกับเรา อุตส่าห์ขับรถตามหลังมาจนเห็นว่าเราถึงบ้านโดยสวัสดิภาพแล้ว พี่วิชัยถึงขับรถเลยกลับบ้านตัวเองไป ขอบคุณพี่วิชัยมากๆสำหรับมิตรภาพและการดูแลที่อบอุ่นค่ะ

เราทำได้ทุกอย่าง ถ้าคิดจะลงมือทำ ท้ายสุดนี้ เมื่อได้มองย้อนกลับไปในความทรงจำทั้งหมดที่ผ่านมา สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คือ หน้าต่างหลายๆบานที่หมุนรอบตัวของเรา หน้าต่างเหล่านั้นทำให้เรามองเห็นโลกภายนอกในมุมมองที่แตกต่างกันออกไป อยู่ที่เราจะเลือกมองผ่านหน้าต่างบานไหน หรือ ไม่สนใจจะมองผ่านหน้าต่างบานไหนเลย หน้าต่างบานไหนที่เรามองแล้วสนใจทิวทัศน์ภายนอกมากๆ อยากสัมผัสและออกไปเป็นส่วนหนึ่งของภาพนั้น เราก็แค่เลือกเปิดหน้าต่างบานนั้นแล้วปีนออกไป

เอ๊ะ!...ถ้าเราต้องปีนหน้าต่าง ทำไมถึงไม่รู้สึกว่ามันควรจะเป็นประตูล่ะ? ที่คิดว่าไม่ใช่เพราะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ไม่ใช่สาขาที่เป็นประตูเปิดออกไปตรงๆ สู่เส้นทางอื่น เราเลยต้องปีนหน้าต่างนั้น “การปีน”เป็นการก้าวข้ามไปสู่เส้นทางสายอื่นๆที่ไม่ใช่ทางตรงแต่เป็นทางลัด ซึ่งทราบกันดีอยู่แล้วว่าสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเป็นสายวิชาการ ไม่ใช่สายอาชีพ เราไม่ได้ถูกจำกัดว่าเราเรียนสาขาวิชานี้ เพื่อจะทำงานตำแหน่งนั้น ตำแหน่งนี้ หรือ ทำงานในสาขานั้น สาขานี้เท่านั้น

เพื่อนคนหนึ่งของพวกเราเคยกล่าวตอบอาจารย์ประจำวิชาในสาขาภาพยนตร์กับคำถามที่ว่า “เด็กสังวิทย์จบไปทำอะไร?” เพื่อนตอบว่า “เด็กสังวิทย์จบออกไปจะแทรกซึมอยู่ทุกวงการ” บางคนอาจจะรู้สึกว่าพวกเขามีหรือเป็นอะไรก็ได้ เพราะความสามารถของพวกเขาล้วนๆ แต่เราคิดต่างจากนั้น เราไม่รู้ว่าเราจะเป็นยังไงถ้าไม่ได้เรียนจบปริญญาตรี และ ปริญญาโท จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เราอาจจะเป็นมนุษย์กดปุ่ม ใครสั่งให้เดินซ้ายก็เดิน ขวาก็เดิน หรือ เราอาจจะเป็นมนุษย์ป้า ขี้วีน เอาแต่ใจตัวเอง ไม่เคยเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นๆ ทำงานกับใครก็ไม่ได้ เราเรียนจบปริญญาตรีด้วยความรู้สึกว่าเรายังมีความรู้ไม่มากนัก เราเลยมาเรียนต่อปริญญาโท จบปริญญาโทก็ยิ่งรู้สึกว่าเราช่างต่ำต้อยและโลกแห่งความรู้นั้นช่างกว้างใหญ่ เกินกว่าที่เราจะเรียนรู้ได้หมดสิ้นจริงๆ แต่เราก็ยังอยากที่จะเรียนรู้ต่อไป

เราเรียนจบจากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เราไม่ได้แค่กระดาษมา 2 แผ่น แต่เราได้สิ่งที่มากกว่านั้น สิ่งที่หล่อหลอมให้เรามีความคิด มีจิตวิญญาณ มีความกระหายที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มีการยอมรับและพร้อมจะรับมือกับทุกความเปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลา อย่างที่เราเป็นตัวของเราอยู่ทุกวันนี้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าใครจะเคยได้ยินรุ่นพี่บอกต่อๆ กันมาว่า “จบคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาทำได้ทุกอย่าง”

  • by จิรัชฌา วานิช
  • | Lifestyles
OTHER POSTS FROM