Kafka e La Bambola Viaggiatore

       
  ชื่อเรื่อง Kafka e La Bambola Viaggiatore  
  ผู้แต่ง/นามปากกา Jordi Sierra i Fabra  
  ต้นฉบับ ภาษาสเปน  
  ผู้แปล Elena Rolla  
  สำนักพิมพ์ Adriano Salani Editore s.u.r.l.  
  พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2553  
  พิมพ์และแก้ไขปรับปรุงใหม่ สิงหาคม 2559  
  ภาพประกอบ  Will Webb  
  ประเภท  วรรณกรรมเยาวชน  
  ความยาว  120 หน้า   
  ISBN 9788869188374  
       

หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลหนังสือแห่งชาติสเปน สาขาวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน ปีคศ.2007 สนพ.ผีเสื้อนำมาแปลเป็นภาษาไทยมีชื่อว่า "คาฟคากับตุ๊กตานักเดินทาง" อยู่ในขั้นตอนวาดภาพประกอบที่น่ารักมาก แอดมินหยอดกระปุกรออย่างใจจดใจจ่อเลยค่ะ

ความที่เป็นคนใจร้อน แต่ไม่มีความสามารถในการอ่านภาษาสเปนซึ่งเป็นภาษาต้นฉบับได้ อีกทั้งยังหาฉบับภาษาอังกฤษไม่ได้ ก็เลยต้องอ่านภาษาอิตาเลียนไปพลางก่อน จะว่าไปแล้วแอบหวั่นใจทุกครั้งที่ต้องหยิบหนังสือติดป้ายรางวัลมาอ่าน โดยเฉพาะป้ายรางวัลวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน เวทีประกวดในประเทศไทย กว่า 80% ของหนังสือที่เคยอ่าน ไม่ถูกจริต เลยคิดไปว่า หนังสือได้รางวัลเป็นแบบนี้เอง เข้าใจถ่องแท้แล้วว่าทำไมเด็กไทยถึงอ่านหนังสือกันน้อยลง

การเรียงชื่อบทด้วยตัวอักษรโรมัน A - Z เก๋มากค่ะ ขอสารภาพว่าอ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้ว ก็ยังเข้าใจว่าเป็นนักเขียนหญิง พอได้ไปค้นข้อมูลของนักเขียนดู อ้าว…นักเขียนชายหรอกหรือ แรกเลยก็แค่สงสัยว่า นักเขียนหญิงคนนี้แปลกจังที่ใช้คาฟคาเป็นตัวเดินเรื่อง เธอคงจะชื่นชอบงานของคาฟคามาก แต่ที่ปักใจเชื่อมาทั้งเล่มว่าเป็นนักเขียนหญิงก็เพราะตัวละครที่คาฟคาไปเจอและสร้างเรื่องราวจนจบนั้น เป็นเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่กำลังร้องไห้อยู่เพราะตุ๊กตาของเธอหายไป

หลังจากอ่านจบบอกไม่ได้ว่าเด็กจะชอบหรือไม่ชอบ เพราะลองเอาไปให้เด็กหญิงอายุ 12 ปี กับเด็กชายอายุ 10 ปี ที่พอหาได้ใกล้ตัว ลองอ่านกันดู เด็กหญิงบอกว่าสนุกเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจแต่ก็ไม่ถึงกับชอบมาก ในขณะที่เด็กชายอ่านไปได้แค่พาร์ทแรก 28 หน้า ก็บอกว่า “มันน่าเบื่อมาก” เป็นไปได้ว่า เด็กชายไม่ชอบเพราะตัวเดินเรื่องเป็นผู้ใหญ่และไปช่วยเด็กผู้หญิงตามหาตุ๊กตา นี่มันเรื่องของเด็กผู้หญิงชัดๆ

แอดมินมีข้อสรุปให้กับตัวเองว่า หนังสือเล่มนี้ พ่อแม่ควรซื้อไว้อ่าน เพื่อทำความเข้าใจและสร้างโลกที่เชื่อมระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก คาฟคาตัวละครในเรื่องเขาเป็นตัวแทนจุดเชื่อมนั้นในการจัดการคลี่คลายความผิดหวังเสียใจ มองในมุมผู้ใหญ่มันก็แค่ตุ๊กตาตัวเดียวที่หายไป แต่สำหรับเด็กมันไม่ใช่แค่ตุ๊กตาตัวเดียว แต่มันอาจจะเป็นเพื่อนคนเดียวหรือโลกทั้งใบที่เขามี และช่วงเวลาทั้งหมดที่เขาเคยใช้ด้วยกันกับตุ๊กตาตัวนั้น มันหายวับไปเหลือแค่ความทรงจำ

ตัวละครคาฟคาในเรื่องเป็นคนที่คิดละเอียดและลึกซึ้งเขาพยายามทำความเข้าใจในโลกใบนั้นของเด็กหญิง ด้วยการเขียนจดหมายเล่าเรื่องการเดินทางของตุ๊กตาที่หายไป เจตนาดีของเขาที่ต้องการช่วยคลี่คลายปมสูญเสียในจิตใจของเด็ก จนเหมือนกลายเป็นสอดแทรกวิธีการจัดการปัญหาในชีวิตของเด็กเอง ซึ่งนั่นทำให้แม่ของเด็กหญิงไม่พอใจ ในที่สุดผู้ใหญ่ที่ยืนอยู่สองฝั่ง มองปัญหาของเด็กจากคนละมุม ก็คลี่คลายด้วยความพยายามเข้าใจความคิดที่แตกต่างกัน ตรงนี้แหละที่ทำให้เรื่องนี้น่าสนใจ

ขอย้ำว่าหนังสือเล่มนี้ พ่อแม่ 'ทุกคน' ควรจะได้อ่าน

  • by นักอ่านหมายเลข ๑
  • | ชวนอ่าน
OTHER POSTS FROM