Vacanze in Balcone

       
  ชื่อเรื่อง: Vacanze in Balcone  
  ผู้แต่ง/นามปากกา: Fulvia Degl'Innocenti  
  ต้นฉบับภาษา: อิตาเลียน  
  สำนักพิมพ์: Biancoenero  
  พิมพ์ครั้งแรก: 8 June 2017  
  ภาพประกอบ: Noemi Vola  
  ประเภท: วรรณกรรมเยาวชน  
  กลุ่มอายุผู้อ่าน: 8 ปีขึ้นไป  
  ความยาว:  64 หน้า  
  ISBN 978-8899010546   
       

ขอเบรกเรื่องหนักๆ มาแนะนำเล่มนี้ โปรดสังเกตว่าหนังสือประเภทวรรณกรรมเยาวชนต่างประเทศ เขามีการกำหนดอายุกลุ่มผู้อ่านที่ชัดเจนมาก เด็กๆได้เลือกอ่านหนังสือที่เหมาะสมตามวัย เหมาะสมทั้งเนื้อหาและการใช้คำศัพท์ที่ง่ายต่อความเข้าใจ เป็นการกระตุ้นให้เด็กอยากอ่านหนังสือด้วยตัวเอง ตอนที่เห็นชื่อเรื่องครั้งแรก นึกไปถึงภาพยนตร์ต่างประเทศหลายสิบปีก่อนที่ครอบครัวหนึ่งพยายามรักษาหน้าตัวเอง ด้วยการโม้ว่าจะไปพักร้อน แต่กลับซ่อนตัวอยู่ในห้องใต้ดิน สุดท้ายก็โป๊ะแตก

แม้หนังสือเล่มนี้จะมีจุดเริ่มต้นที่คล้ายคลึงกับภาพยนตร์ แต่การให้ตัวละครเด็กชายเป็นคนเล่าเรื่อง ทำให้นักอ่านตัวน้อยเข้าถึงเรื่องราวและจินตนาการตามไปด้วยได้ง่าย แม้คนเป็นพ่อแม่อ่านยังรู้สึกสนุกในการตามเด็กชายไปรู้จักครอบครัวของเขา ปู่ที่ไม่ยอมพูดอะไรมาเป็นปีหลังจากย่าเสียชีวิตไป มีกิจกรรมที่ชอบทำประจำคือ ตัดฉลากสินค้าทุกผลิตภัณฑ์เพื่อส่งชิงรางวัล แม่ซึ่งทำงานทั้งในบ้านและนอกบ้าน พี่สาวที่กำลังจะขึ้นมัธยมปลายแต่คะแนนยังไม่ดีจะต้องสอบซ่อมใหม่ พ่อซึ่งได้รับคำสั่งให้ออกจากงานตั้งแต่เดือนที่แล้วแต่เก็บเงียบไม่ยอมบอกใครเลย จนกระทั่งวันสุดท้ายของการทำงาน

จุดเริ่มของปัญหาเมื่อคนพ่อไปโม้กับกลุ่มเพื่อนเล่นปาลูกดอกว่าจะพาครอบครัวไปพักร้อนที่มัลดีฟท์ เพื่อจะเกทับอีกครอบครัวที่จะไปล่องเรือเที่ยวรอบกรีซ คุณพ่อบอกว่าวางแผนไว้แล้ว เมื่อเพื่อนในกลุ่มรู้ว่าต้องออกจากงานในเดือนถัดมา พวกเขาแสดงความเสียใจกัน คุณพ่อควรใช้จุดนี้ยกเลิกแผนการเที่ยวมัลดีฟท์ แต่ก็ไม่คุณพ่อยังยืนยันกับเพื่อนๆ ว่าจะไปเหมือนเดิม โอว…ยอดคุณพ่อมาก และนั่นเป็นเหตุให้ทุกคนต้องจัดตารางเวลา ผลัดกันออกมาย่างผิวที่ระเบียง เพื่อให้ตัวเกรียมไหม้เหมือนโดนแดดเผากันมาจริงๆ

ขณะที่ทุกครอบครัวที่อาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนต์เดียวกันได้ออกไปพักร้อนกันหมดแล้ว ทำไมถึงชอบเล่มนี้ พ่อแม่ทุกคนไม่ได้สมบูรณ์แบบ มีความบกพร่องได้ ไม่ใช่แต่ลูกที่เป็นฝ่ายสร้างปัญหาให้ครอบครัวอย่างที่ผู้ใหญ่ชอบคิดกัน คนเป็นพ่อแม่ก็ผิดพลาดได้ สร้างปัญหาได้ง่าย และเป็นปัญหาใหญ่กว่าด้วยซ้ำ แต่เมื่อปัญหานั้นถูกหยิบยกขึ้นมาในครอบครัว ทุกคนร่วมมือกันแก้ปัญหา ไม่ได้เกี่ยงว่าปัญหาของพ่อ พ่อจัดการเอง เพราะคำว่า “ครอบครัว” มันหมายรวมถึงสมาชิกทุกคน ใครทำอะไรได้ ช่วยอะไรได้ ลงมือคิดกัน ลงมือทำกัน ตอนจบไม่โป๊ะแตก แต่กลับได้โชคหลายชั้นทีเดียว เรียกว่าจบแบบอมยิ้ม

อ่านไปจนท้ายเล่ม ถึงเข้าใจว่าทำไมเรื่องนี้ถึงอ่านสนุกนัก เมื่อเห็นเครดิตรายชื่อยาวเหยียดของเด็กๆ นักเรียนชั้นประถมศึกษา ที่นักเขียนได้ทำงานร่วมด้วย วิธีการน่าสนใจมากตรงที่อ่านให้เด็กๆ ฟัง แล้วเด็กๆ มีข้อสงสัย ตั้งคำถาม หรือเสนอแนะอะไรมา ก็จะมาปรับแก้สำนวนภาษา เพื่อให้การบรรยายเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น ก็หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อให้พวกเขาอ่านนี่เนอะ

ชอบวิธีการทำงานแบบนี้ มิน่าล่ะ…วรรณกรรมเยาวชนต่างประเทศ ถึงได้อ่านสนุกวางไม่ลงจริงๆ

  • by นักอ่านหมายเลข ๑
  • | ชวนอ่าน
OTHER POSTS FROM