นิยายเกาหลี ร้านขายเวลา - คิมซ็อนฮย็อง

นิยายเกาหลี เรื่อง ร้านขายเวลา เขียนโดย คิมซ็อนย็อง แปลภาษาไทยโดย สุมาลี สูนจันทร์ ได้รับรางวัลวรรณกรรมเยาวชนเกาหลี เป็นเรื่องราวของอนโจ เด็กสาวมัธยมปลายชั้นปีที่ 5 จากโรงเรียนมัธยมปลายมย็องซ็อง กำลังเข้าสู่ช่วงวัยที่ชอบตั้งคำถามและค้นหาตัวเอง อยากหาประสบการณ์ชีวิต ดังนั้นในช่วงปิดเทอมฤดูหนาวจึงไปทำงานพิเศษที่ร้านขายเบเกอรีและร้านเฝอ แต่ก็มีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ต้องจบการทำงานพิเศษในฤดูหนาวในเวลาอันสั้น 

เมื่อได้ใคร่ครวญเกี่ยวกับค่าจ้างรายชั่วโมงที่สัมพันธ์กับตำแหน่งและหน้าที่ความรับผิดชอบ รวมกับประโยคที่แม่บอกว่า "เวลาเป็นเงินเป็นทอง" อนโจก็เลยเปิดร้านขายเวลาของตัวเองขึ้นมา โดยระบุเงื่อนไข 4 ข้อเป็นกฎสำคัญของร้านขายเวลา 1. ปฏิเสธสิ่งที่เกินความสามารถของตนเอง 2. ไม่ทำเรื่องที่ไม่ถูกต้อง 3. เลือกเรื่องที่ช่วยปลอบประโลมลูกค้าได้ แม้แต่น้อยก็ยังดี 4. เลือกงานที่ทำให้เวลากลายเป็นเงินได้จริง 

ร้านขายเวลาก็เริ่มมีลูกค้ามาใช้บริการจริงๆ ภารกิจแรกที่ได้รับจากลูกค้าคือการนำของที่ถูกขโมยไปคืน ภารกิจที่สองคือการส่งจดหมายสัปดาห์ละสองฉบับตามที่อยู่ที่ให้ไว้ โดยไม่ใช่บริการส่งทางไปรษณีย์แต่ไปหย่อนที่ตู้รับจดหมายเองกับมือ ภารกิจที่สามไม่ต้องทำอะไรมากแค่กินข้าวให้เอร็ดอร่อยก็พอ แต่แล้วร้านขายเวลาของแพ็คอนโจก็ได้พาความโกลาหลและปัญหาที่สืบเนื่องตามมาด้วย เด็กสาววัยมัธยมจำเป็นต้องฝึกฝนทักษะในการแก้ปัญหา แม้ทุกอย่างจะเป็นความลับแต่ก็ยัง ครูหมีใจดีที่ช่วยรักษาความลับ ตามดูและคอยช่วยเหลืออยู่ห่างๆ

 

นิยายเกาหลี วรรณกรรมเยาวชน เรื่องร้านขายเวลา เขียนโดย คิมซ็อนย็อง แปลภาษาไทยโดย สุมาลี สูนจันทร์ สำนักพิมพ์ piccolo

 

  ชื่อหนังสือ ร้านขายเวลา  
  ผู้แต่ง คิมซ็อนย็อง  
  ผู้แปล สุมาลี สูนจันทร์  
  พิมพ์ครั้งที่สอง ธันวาคม 2564  
  ผู้จัดพิมพ์ Piccolo อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง  
  ประเภท นวนิยายเกาหลี  
  แนว วรรณกรรมเยาวชน  
  ความยาว 250 หน้า  
  ตัวละครหลัก: อนโจ  
  ตัวละครสนับสนุน:  นันจู แม่ ซ็องอีฮย็อน คังโท คุณปู่ ครูหมี  
  เรื่องราวเกิดขึ้นที่: โรงเรียนมัธยมปลายมย็องซ็อง  

 

นิยายเกาหลี ร้านขายเวลา - คิมซ็อนฮย็อง

 

ความคิดเกี่ยวกับเวลาของแพ็คอนโจ

ความคิดเกี่ยวกับเวลาของแพ็คอนโจมันมีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันที่ไม่ใช่เรื่องของเส้นเวลาที่เลื่อนไหลไปข้างหน้า แต่ในเวลามันมีเนื้อหา มันมีความทรงจำของชีวิตผู้คน ตัวอย่างเช่น แม่ของอนโจที่มักจะเศร้าใจทุกครั้งเมื่อฤดูใบไม้ผลิมาเยือน เพราะเมื่อห้าปีก่อนพ่อของอนโจเสียชีวิตไปในช่วงเวลานั้น ฤดูใบไม้ผลิจึงกลายเป็นความโศกเศร้าของแม่อนโจที่ยังยึดติดกับช่วงเวลาที่มีความทรงจำอันโหดร้าย กักขังและไม่ปล่อยให้ช่วงเวลานั้นไหลผ่านไป  อนโจยกตัวอย่างให้เด็กชั้นประถมฟังในเรื่องของเวลาก็เหมือนหางของจิ้งเหลน ถ้าจับจิ้งเหลนมามันจะสะบัดหางของมันทิ้งไว้แล้วหนีไป เวลาก็เหมือนกับจิ้งเหลน ส่วนหางจิ้งเหลนก็คือความทรงจำ เป็นร่องรอยที่ถูกทิ้งไว้ว่าครั้งหนึ่งเคยมีช่วงเวลานี้อยู่

เมื่อเวลาเป็นสิ่งมีค่าสามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินได้ เวลาก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและไม่ควรทิ้งไปเสียเปล่าๆ ไม่ควรปล่อยให้ใครบางคนรอคอย เพราะไม่มีใครรู้ว่าการรอคอยนั้นจะสิ้นสุดเมื่อไร และคนที่รอคอยยังเหลือเวลาอีกมากน้อยแค่ไหน ใช้เวลาที่มีอยู่ในปัจจุบันให้คุ้มค่าและมีชีวิตชีวาที่สุด

สั่งซื้อหนังสือในรูปแบบ eBook ได้ที่ Meb Market

ตัวละครในเรื่อง

อนโจ เด็กสาวชั้นมัธยมปลายปีที่ 5 ที่มีพ่อเป็นเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและเสียชีวิตไปเมื่อห้าปีก่อน อนโจมีนิสัยที่ได้รับถ่ายทอดมาจากพ่อก็คือชอบช่วยเหลือผู้คนแม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยก็ตาม เป็นเด็กสาวที่สุภาพอ่อนโยนจิตใจดีงาม แต่ก็พร้อมจะต่อสู้และเลือดร้อนเมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องสมควร

แม่ เป็นแม่ที่รับฟังทุกเรื่องที่อนโจมาเล่าให้ฟัง ปล่อยให้อนโจพูดในสิ่งที่อยากจะพูดจนหมดแล้วถึงแสดงความคิดเห็นของตัวเองอย่างนุ่มนวล

นันจู เพื่อนสนิทของอนโจ แม่หย่ากับพ่อ เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวแล้วแต่งงานใหม่ พ่อเลี้ยงของนันจูเข้ากับนันจูได้ดีมาก เอาใจใส่ดูแล เหมือนเป็นพ่อ-ลูกกันจริงๆ นันจูแอบชอบซ็องอีฮย็อนนักเรียนชายห้องเจ็ดที่สาวๆ มักคลั่งไคล้ ส่งข้อความไปก็ไม่ได้รับการตอบกลับ จนเดือดร้อนอนโจที่ทนเห็นเพื่อนเป็นทุกข์ไม่ได้ จึงต้องสอดมือเข้าไปช่วยเหลือ

ฮเยจี เพื่อนร่วมชั้นของอนโจและนันจู ที่ไม่สุงสิงกับใครเป็นเด็กเนิร์ดเรียนเก่งระดับท็อป พูดน้อยเก็บตัว สวมหูฟังไม่สนใจใคร อนโจเคยอยากรู้ว่าฮเยจีฟังเพลงอะไรถึงขนาดไปสวมหูฟังของฮเยจี แล้วก็ต้องตกใจเมื่อได้ยินเพลงฮาร์ดร็อคดังแสบแก้วหู มันช่างขัดกับบุคลิกภาพของฮเยจีที่ดูเรียบๆ เงียบๆ เป็นอย่างมาก

ซ็องอีฮย็อน นักเรียนชายห้องเจ็ดที่นันจูสนใจเพราะเขาหน้าตาดี แต่ดูท่าแล้วเขาไม่สนใจผู้หญิงเลย แต่ดูเหมือนเขาจะสนใจอนโจ ตรงที่อนโจไม่เหมือนคนอื่นที่ต้องพยายามวางตัวดูดีต่อหน้าเขา นัดพบครั้งแรกอนโจวิ่งมา ผมเผ้ากระเซอะกระเซิง เหงื่อเปียกชุ่มโชกทั้งตัว และเพราะอนโจที่ไม่พยายามฝืนวางกิริยาท่าทาง ซ็องอีฮย็อนจึงสามารถทำตัวตามสบายและเป็นตัวของตัวเองได้

คังโท ลูกค้าคนที่สามขอให้อนโจไปกินข้าวกับคุณปู่ของเขาอย่างเอร็ดอร่อยเพราะตัวเขาเองติดธุระ ไม่สามารถไปตามนัดได้ คังโทเป็นชื่อที่คุณปู่ตั้งให้ แต่เขาไม่ชอบชื่อนี้เพราะตอนเด็กๆ ถูกเพื่อนล้อว่า กังทง กังทง กังทง คุณปู่ก็เลยยอมเปลี่ยนชื่อให้ทั้งในทะเบียนบ้านด้วยเป็นคึนซ็อก เขาอนุญาตให้คุณปู่เรียกชื่อเขาว่าคังโทได้คนเดียว อนโจก็ได้รับสิทธิ์นั้นเหมือนกัน ซึ่งทำให้คุณปู่ของเขาคิดว่าอนโจต้องมีความสำคัญเป็นพิเศษบางอย่างถึงรู้ชื่อสมัยเด็กของเขาได้ ในความคิดเห็นของอนโจ คังโทมีความคิดสุขุมรอบคอบและเป็นผู้ใหญ่มากกว่าอนโจเยอะ

คุณปู่ของคังโท เป็นคุณปู่ที่ใจดีอบอุ่น รักหลานชายมาก แต่เพราะมีปัญหาขัดแย้งบางอย่างระหว่างเขากับลูกชาย จึงทำให้คังโทเองก็ลำบากใจในการมาพบปู่ คังโทไม่มากินข้าวกับปู่ตามนัดถึงสองครั้ง สุดท้ายคุณปู่ของคังโทก็ละทิฐิมานะที่จะฟ้องร้องลูกชาย หลังจากถอนฟ้องแล้ว คังโทก็มากินข้าวตามนัดกับคุณปู่และเชิญให้อนโจมาด้วย

ดอกหญ้าอิสระ ครูโรงเรียนอนุบาลที่ไม่สามารถดูแลเด็กๆ ได้อีกต่อไป จึงเขียนจดหมายไว้จำนวนหนึ่งจ้างร้านขายเวลาของอนโจ ให้ช่วยส่งจดหมายเหล่านั้นสัปดาห์ละสองฉบับ ดอกหญ้าอิสระบอกว่าอย่างน้อยก็อาจจะช่วยต่อเวลาออกไปได้อีกสักหน่อย แต่สำหรับอนโจมันคือเวลาเหล่านั้นมันกระชั้นและหดสั้นลงมาแล้ว

ความสมเหตุสมผล

คิมซ็อนฮย็อง โฟกัสที่ชีวิตของเด็กมัธยมปลายได้อย่างไม่หลุดคอนเซ็ปต์ของวรรณกรรมเยาวชน ตัวละครวัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ในเรื่อง มีความนึกคิดที่สมกับวัยและประสบการณ์ในชีวิตของพวกเขา อ่านแล้วรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่สมจริง นึกภาพออกว่าอนโจที่มีบุคลิกภาพแบบนี้ อายุเท่านี้ ก็จะมีความคิดแบบนี้ตามวัยของเขา แม้แต่เด็กประถมอย่าง— ที่เข้ามาพูดคุยเรื่องเวลากับอนโจในร้านขายเวลาก็ไม่ได้แก่แดดหรือคิดไปเกินวัยของเขา เพราะเด็กวัยประถมก็จะขี้สงสัยและช่างซักช่างถาม คุณปู่ซึ่งเป็นชายชราใจดีรักหลานชายก็เผื่อแผ่ความรักความเมตตามายังเพื่อนสาวของหลานชายด้วย แม่ซึ่งกำลังมีความรักครั้งใหม่ก็อาจจะครุ่นคิดว่าทรยศต่อความรักต่อสามีที่ล่วงลับไปแล้ว และไม่กล้าบอกลูกสาวที่กำลังวัยรุ่นของตัวเอง

ร้านขายเวลาในเรื่องเป็นตัวแทนของความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกันกับการใช้ชีวิตในปัจจุบันที่มีความข้องเกี่ยวกับความทรงจำของช่วงเวลาในอดีต ซึ่งมันอาจจะส่งผลให้เกิดการตัดสินใจในปัจจุบันให้ไปสู่สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตซึ่งยังไม่มีใครคาดเดาได้ ในบทสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้จึงยังไม่เขียนถึงการตัดสินใจในปัจจุบันของอนโจ เพราะนักเขียนต้องการให้สิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปเป็นเรื่องของอนาคตที่ไม่มีใครรู้ คือเป็นการจบเรื่องได้เท่มากจริงๆ ไม่หลุดคอนเซ็ปต์ในเรื่องเวลาเลย

มุมมองส่วนตัว

ปกติอ่านวรรณกรรมเยาวชนที่ตัวละครเป็นเด็กชั้นประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น แต่ได้มาอ่าน “ร้านขายเวลา” เล่มนี้พูดถึงชีวิตของเด็กมัธยมศึกษาตอนปลาย ตอนแรกคิดว่าจะต้องไม่เข้าใจชีวิตเด็กวัยรุ่นในยุคสมัยนี้แน่ๆ ไม่อยากจะคิดย้อนไปเปรียบเทียบกับสมัยที่ตัวเองเป็นวัยรุ่น เพราะมันคนละยุค คนละสมัย คนละปริบททางวัฒนธรรม แต่พออ่านไปเรื่อยๆ ก็ต้องนึกชมคิมซ็อนย็องที่ถ่ายทอดเรื่องราว ความนึกคิดจิตใจของตัวละคร ผ่านตัวอักษรออกมา ให้วัยรุ่นต่างยุคสมัยอย่างเราได้เข้าใจและเห็นอกเห็นใจตัวละครที่กำลังจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างพวกเขา

ถ้ามองในสายตาของผู้ใหญ่บางเรื่องอาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่สำหรับวัยรุ่นมันอาจจะเป็นเรื่องที่ใหญ่โตมหาศาล ที่กดทับพวกเขาด้วยความรู้สึกผิดชอบชั่วดี อย่างกรณีของเด็กที่ฆ่าตัวตายหลังจากถูกจับได้ว่าขโมยเครื่องเล่นเสียงชนิดพกพาของเพื่อนร่วมชั้น รวมทั้งการที่อีกคนพยายามจะช่วยให้เหตุการณ์นั้นไม่เกิดขึ้นซ้ำสอง ด้วยการนำของที่ถูกขโมยกลับไปคืนที่เดิม กลายเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าของหายครั้งแรกซะอีก…จริงๆ ก็อยากจะขำๆ กับความคิดของเด็ก มันขนาดนั้นกันเลยหรือ แต่อีกมุมก็…เออ…มันเป็นเรื่องใหญ่ของพวกเขา น่าเห็นใจ เพราะคงแบกความลับไว้จนคับอก คนนั้นก็รู้ไม่ได้ คนนี้ก็รู้ไม่ได้ อ่านไปก็ลุ้นไปสนุกเหมือนกัน เมื่อไรที่ความลับแตกแล้วพวกเขาจะทำอย่างไรกันต่อ

การใช้ภาษาที่เรียบง่าย เรื่องราวไม่ซับซ้อน บทสนทนาที่สมจริง ตัวละครที่มีความคิดสมวัยและมีจุดมุ่งหมายชัดเจน ทุกอย่างนำมาผสมผสานกัน ไม่แปลกใจเลยจนนิดเดียวที่หนังสือเรื่อง ร้านขายเวลา เล่มนี้ได้รับรางวัลวรรณกรรมสำหรับเยาวชนเกาหลี ประจำปี 2554

 

สั่งซื้อหนังสือในรูปแบบ eBook ได้ที่ Meb Market

  • by นักอ่านหมายเลข ๑
  • | ชวนอ่าน
OTHER POSTS FROM