หยุด! อ่านก่อนเซ็นสัญญา

ก่อนจรดปลายปากกาลงชื่อในสัญญา เจ้าของลิขสิทธิ์ควรอ่านทวนข้อความรายละเอียดในเนื้อหาสัญญาให้ถี่ถ้วนหลายรอบเสียก่อน  สัญญาที่กำลังจะเซ็นนั้นเป็นสัญญาเกี่ยวกับอะไร “สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์งานวรรณกรรม” เป็นสัญญาที่เจ้าของลิขสิทธิ์งานวรรณกรรมอนุญาตให้สำนักพิมพ์นำงานของตนไปพิมพ์เผยแพร่เป็นการชั่วคราว โดยมีช่วงเวลาที่กำหนดหรือการแจ้งยกเลิกสัญญาของทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ “สัญญาโอนลิขสิทธิ์งานวรรณกรรม” ที่มอบลิขสิทธิ์ผลงานชิ้นนั้นให้กับสำนักพิมพ์อย่างถาวรและไม่สามารถขอคืนกลับมาได้

เนื้อหาที่ควรอ่านให้รอบคอบ

1.ช่วงเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการใช้ลิขสิทธิ์งานวรรณกรรม

2.สัญญาฉบับนี้ เป็นสัญญาสำหรับการจัดพิมพ์งานวรรณกรรมเป็นรูปเล่มหนังสือเท่านั้น หากต้องการจัดทำและเผยแพร่ในรูปแบบอื่น หรือ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น  CD-ROM eBook AudioBook หรือ อื่นๆ ใด สำนักพิมพ์ควรแยกสัญญาออกไปอีกฉบับต่างหาก หรือ ปรับเปลี่ยนข้อความในสัญญาตามความเห็นชอบของทั้งสองฝ่าย

3.ต้องยืนยันตัวเองว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานวรรณกรรม ได้แก่ ผู้สร้างสรรค์งานวรรณกรรม ผู้รับโอนลิขสิทธิ์งานวรรณกรรม ผู้ว่าจ้างให้สร้างสรรค์งานวรรณกรรม ผู้รับมรดกงานวรรณกรรม

4. เจ้าของลิขสิทธิ์งานวรรณกรรมเป็นเจ้าของตัวละครและนามปากกาโดยชอบธรรม

5.เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้นำงานวรรณกรรมไปจัดพิมพ์ตามสัญญาแล้ว หลังสัญญาหมดอายุ สามารถนำไปให้สำนักพิมพ์อื่นตีพิมพ์ผลงานตัวเองได้ โดยดูเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ในสัญญาเดิม

6. การแก้ไขดัดแปลงหรือเพิ่มเติมงานวรรณกรรมอยู่ในข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องตกลงกันในรายละเอียดเกี่ยวกับขอบเขตในการแก้ไขดัดแปลง

7.ตรวจสอบจำนวนการจัดพิมพ์ครั้งเดียวในระยะเวลาตามอายุสัญญา หรือ มีการพิมพ์เพิ่ม พิมพ์ซ้ำหลายครั้งได้ตลอดระยะเวลาตามอายุสัญญา

8.การจ่ายค่าตอบแทนต้องมีการระบุให้ชัดเจนถึงสัดส่วนรายได้และวันครบกำหนดจ่ายค่าตอบแทน จ่ายให้เฉพาะการจัดพิมพ์ครั้งแรกเพียงครั้งเดียว หรือจ่ายเพิ่มให้ทุกครั้งที่มีการพิมพ์ซ้ำและพิมพ์เพิ่ม

สุดท้ายนี้ หากเจ้าของลิขสิทธิ์ผลงานวรรณกรรมมีข้อท้วงติงหรือไม่ยินยอมเซ็นสัญญาผูกมัดในเงื่อนไขบางประการ สามารถทักท้วงสำนักพิมพ์เพื่อการปรับเปลี่ยนสัญญาให้เหมาะสม เพื่อให้การลงนามคู่สัญญาเป็นไปตามความยินยอมพร้อมใจของทั้งสองฝ่าย

  • by ทีมงานจันทร์เจ้าเอย
  • | แวดวงหนังสือ