พลอยมณี

ทีมงานจันทร์เจ้าเอยพานักอ่านมารู้จักนักเขียนหญิงมากความสามารถอีกท่านหนึ่งค่ะ เจ้าของนามปากกา "พลอยมณี" เขียนงานหลากหลายแนวมาก นิยายรัก ดราม่า ชีวิต สยองขวัญ และวรรณกรรมเยาวชน ทีมงานชอบเรียกขานกันสั้นๆ ว่า คุณเปิ้ลพลอย (ชื่อเล่นบวกชื่อจริง) ไปทำความรู้จักคุณเปิ้ลพลอยกันค่ะ

แนะนำตัวให้รู้จักนิดหนึ่ง

ชื่อเปิ้ลค่ะ ชื่อจริงพลอยรุพีย์ มณีนัย 

อะไรเป็นจุดเริ่มให้จับปากกา

เมื่อก่อนเขียนบันทึก เขียนงาน Ghost writer มาก่อน เขียนมานานหลายปีสนุกกับสิ่งที่ทำ แต่ไม่คิดว่ามันจะเป็นอาชีพได้ ทำเป็นจ๊อบเพื่อหารายได้เสริม เบื่อกับการทำงานประจำเลยหาทางออกให้กับชีวิต จนวันหนึ่งน้องชื่ออาร์ม (ดร.ตรีพล เกิดนาค : ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ) เคยทำงานด้วยกันเมื่อครั้งทำรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งทักว่า 

“พี่เปิ้ลครับเวลาพี่เขียนหนังสือ พี่เป็นคนละคนกับทำรายการทีวีเลย เวลาพี่ทำรายการพี่จริงจัง เครียด แล้ววีนแตกตลอด ต่างจากตัวหนังสือของพี่ที่ดูสงบ ผมว่าพี่น่าจะไปเขียนหนังสือมากกว่านะครับ”

ต้องบอกว่าน้องเขามีจิตวิญญาณการเป็นครูบาอาจารย์มาแต่ไหนแต่ไร เขามีวิธีแนะนำให้เราทำสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง นั่นคือสิ่งที่คิดว่าการเขียนหนังสือมันไม่เป็นพิษกับเรา การทำงานอย่างอื่นเราได้ประสบการณ์ แต่เราไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง เราต้องสวมหัวโขนเป็นอีมาร เป็นนางยักษ์ เป็นทุกอย่าง เพื่อให้งานไปถึงเป้าหมาย เลยคิดว่าไปเขียนหนังสือเป็นเรื่องเป็นราวเลยแล้วกัน ไม่อยากเป็นปลาผิดน้ำอีก ในเมื่อสิ่งนี้เหมาะกับเราก็ทำสิ่งนี้ให้เลี้ยงตัวได้ ทำงานแล้วชีวิตไม่พัง ได้ความสุข ไม่ต้องรู้สึกทุกข์กับการทำงานที่ไม่ใช่ เราจะมีกำลังใจลุกมาทำงานทุกวันตลอดเวลา

คิดว่าอาชีพการงาน สภาพแวดล้อม ชีวิตประจำวัน มีส่วนทำให้มาเขียนนิยายด้วยไหม? เล่าให้ฟังหน่อย

มีค่ะ อย่างตอนนี้ก็เขียนวรรณกรรมเยาวชนเงียบๆ สิ่งที่เขียนได้มาจากบันทึกประจำวันในวัยเด็กของตัวเอง เราเคยคิดว่า อายจังเลยความคิดตอนเด็กนี่ซื่อจริงๆ แต่นั่นคือความคิดเด็กๆ ที่ทำให้มีเราในวันนี้ สิ่งที่ดีคือประสบการณ์ในวัยเด็กพอได้เผยแพร่ ก็มีหลายคนที่เคยมีประสบการณ์แบบเดียวกันประทับใจ การได้หยิบยกประสบการณ์ใดขึ้นมาเล่า มันทำให้เห็นถึงการมีส่วนร่วม ดึงประสบการณ์อีกแง่มุมของอีกฝ่ายมาสนุกด้วยกัน 

หรือการเขียนนิยายสิ่งที่ดีที่สุด คือการเอาประสบการณ์จริงมาเล่า เพราะหลายคนไม่ได้ทำงานอย่างเรา ประสบการณ์ที่ดีและไม่ดีในวันนั้น เรานำมาใช้ถ่ายทอดในงานเขียนได้ สิ่งที่ดีกว่านั้นคือ บางครั้งเราคิดว่ามันผิดแต่พอได้อ่านคอมเม้นต์ของนักอ่านที่ประสบการณ์มากกว่า เราจะเห็นเลยว่า บางปัญหาที่เจอก็ไม่ได้เลวร้าย เรามีวิธีคิดที่ดีให้กับตัวเองได้เหมือนกัน หรือเอาบุคลิกนิสัยจริงของคนเหล่านั้น มาเป็นคาเรคเตอร์ตัวละครในนิยายของเราได้ค่ะ

อย่าง ‘วาดตะวัน’ นิยายเรื่องนี้เขียนมาสิบกว่าปีแล้ว ตอนนั้นหาข้อมูลจากโรควัวบ้า จำได้ว่าเวลานั้นนิวซีแลนซ์ ออสเตรเลียต้องเทนมทิ้ง เกิดภาวะนมผงขาดตลาดจนเป็นที่มาของการรณรงค์กินนมแม่ แรงบันดาลใจตรงนี้ก็ไปหาข้อมูลจากหมอ จากหน่วยงานอื่นๆ เพิ่ม ไปนั่งเฝ้า ฉก.90 ไปสังเกตพฤติกรรมนิสัยคาเรคเตอร์เอามาเป็นตัวละคร ตอนที่เขียนเรื่องนี้มีคนตำหนิว่า มันไม่สมจริงเลย ทหารเกี่ยวอะไรด้วย การเอาเรื่องเลือดตัวอย่างที่ผ่านการป่วยไปศึกษาหายารักษาเป็นเรื่องตลก การเก็บรักษาผู้ตั้งต้นเชื้อโอเว่อร์เกินจริง เนื้อหาเพ้อฝันเกินจริงไปหน่อย 

วันนี้สิ่งที่เขียนในวาดตะวันออกมาให้เห็นเหมาะเจาะกับสถานการณ์โควิด โรคภัยกระทบกับความมั่นคงระดับประเทศได้ ข่าวสารมันแพร่กระจายเร็วและเห็นภาพชัดมากกว่าเมื่อสิบกว่าปีก่อน คนที่หายป่วยจะมีภูมิคุ้มกันตามที่ร่างกายสร้าง เลือดของผู้ที่หายป่วยเอามาศึกษาทำวัคซีนได้ สถานการณ์ของโรคระบาดที่ทุกคนสัมผัสไม่ได้ไกลตัว ใครผลิตวัคซีนได้ก่อนคนนั้นก็มีกำลังในการต่อรอง ความได้เปรียบ การเก็บคนป่วยต้องระมัดระวัง ในนิยายจะปรุงเรื่องให้เว่อร์เพื่อเห็นภาพความน่ากลัว นั่นแหละค่ะ จำได้ว่าตอนนำเสนอโดนด่าเละ เพราะไม่มีใครเชื่อในข้อมูลที่ได้มา ยิ่งตอนนี้หลายคนไม่ชอบทหาร ก็ถึงกับไม่อ่านเพราะตัวเอกเป็นทหาร ก็ไม่รู้จะอธิบายยังไง เพราะคนดีคนเลวมันปะปนกันทุกสังคม ในเรื่องเขาก็ต้องเจอคนร่วมอาชีพหักหลังเอาเปรียบเหมือนกัน เลยไม่ได้โปรโมทนิยายเรื่องนี้อีก 

พอได้ต้นฉบับคืนมา ก็แก้ไขและกลับไปยืนยันว่าจะเล่าเรื่องแบบเดิม วันนี้คิดถูกเลือกจะเล่าเรื่องแบบนั้น จงมั่นใจในงานที่ทำ หาข้อมูลให้ดี ศึกษาแล้วนำเสนอให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะเรียบเรียงออกไปได้ค่ะ ไม่ได้ดีถูกใจใครแต่ขอให้ดีที่สุดเท่าที่เราทำได้พอ 

จุดไหนที่ทำให้เขียนนิยายเรื่องแรก

เริ่มจากความเครียด เบื่องานประจำที่ทำอยู่ แล้วก็นึกสนุกเปิดคอมฯ ขึ้นมาเขียนนิยาย ตอนนั้นมีหลานชายเป็นฝาแฝด และมีเพื่อนเป็นฝาแฝด แฟนของรุ่นน้องที่ทำงานด้วยกัน ชื่อ นับเงิน-นับทอง ชอบชื่อนี้เลยเอามาเป็นตัวละครในนิยายเรื่องแรก เล่ห์ลิขิตรัก พิมพ์กับ สนพ.บ้านอรุณ หลังจากได้ลิขสิทธิ์คืนมา ตั้งใจจะรีไรต์ให้เรียบร้อยแต่ติดงานค่ะ ยังไม่ได้รีไรต์เพื่อขาย e book ค่ะ 

มีกี่นามปากกาเปิดเผยได้ไหม?

มีหลายนามปากกาค่ะ แต่ที่เขียนแล้วนำเสนอแล้วมี พลอยมณี นิยายรัก โรมานซ์ แฮปปี้ตอนจบส่วน ภีรนัย เป็นแนวฆาตกรรม แนวจิตบำบัด แนวสืบสวนหลอน บางเรื่องเราก็เก็บกดกับสถานการณ์ ตอนจบไม่จำเป็นต้องสวยเสมอไป ก็เอามานำเสนอผ่านนามปากกานี้ ส่วนพลอยรุพีย์ ชื่อจริงเลยจะนำเสนอเกี่ยวกับวรรณกรรมเยาวชน หรืองานสารคดีเพื่อยืนยันตัวตนของตัวเองค่ะ แล้วก็ไปลองแนวอื่นดูบ้าง สิ่งที่เกิดขึ้นจนทำให้หยุดคือ เราไม่เหมาะกับงานชิ้นนั้น แนวนั้นไม่ใช่ทางถนัด ก็หยุดเขียนค่ะ 

เรื่องอะไรบ้าง?

นามปากกา "พลอยมณี" เขียนเรื่อง เล่ห์ลิขิตรัก, วาดตะวัน,

ผลงานที่ภูมิใจที่สุดคือเรื่องอะไร อยากให้เล่าให้ฟัง มีที่มาอย่างไร

ผลงานที่ภูมิใจที่สุด คือ ภูมิใจทุกเรื่องนะคะ แม้มันจะไม่ได้ดีมาก แต่เส้นทางการปั่นต้นฉบับเป็นอันรู้กันว่า มันไม่ได้ง่าย มันเหนื่อย ต้องอ่าน ต้องหาข้อมูล ต้องรื้อต้นฉบับ ต้องกล้าแก้งานชนิดที่หักตัวเอง นิยายหรืองานของเราอาจจะไม่ดีถูกใจใคร แต่สำหรับเปิ้ลมันดีในช่วงเวลานั้นที่เราได้ตั้งใจทำอย่างเต็มที่

 สิ่งที่ภูมิใจในช่วงเวลาที่ผ่านมา น่าจะเป็นเล่ม 50 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใช้เวลาทำนานมาก เรียกได้ว่าเล่มนี้นอนตีสามตื่นตีห้ามาทำงาน ต้นฉบับเก็บข้อมูลมาหลายปี ต้องตรวจสอบข้อมูลให้ดีให้ถูกต้อง เพราะเราไม่ได้เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่เข้าใจพฤติกรรมของนายช่าง แต่เราต้องนำเสนอข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

เป็นงานเขียนแนวสัมภาษณ์บุคคลที่เล่าสถานการณ์ของแต่ละท่าน ตั้งแต่ก่อตั้งคณะวิศวฯ มช. ต้องขอบพระคุณ ผศ.ดร.ณัฐ วรยศ อดีตคณบดีคณะวิศวฯ มช. ผศ.ดร.ยศธนา คุณาธร รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่สนับสนุนให้ทำหนังสือเล่มนี้ ให้กำลังใจ ให้โอกาส ได้เห็นปัญหา อุปสรรค การแก้ไข การคงสิ่งที่ดีไว้ การเห็นความกดดันของตัวเอง ความคาดหวัง เป้าหมาย เล่มนี้สอนให้เรียนรู้คนมากขึ้น บางสถานการณ์เอามาใช้ในงานเขียนและพัฒนาความคิดของตัวเองได้เลยค่ะ 

สรุปคือ มองอย่างเข้าใจและเรียนรู้สิ่งที่ดีเอามาใช้กับตัวเอง อย่าเอาตัวเองเป็นบรรทัดตัดสินเขา มันไม่มีพื้นที่ไหนบนปฐพีนี้หรอก ที่จะดีได้ดังใจเราไปเสียทุกอย่าง มันอยู่ที่การเรียนรู้และปรับตัว สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่งานสำเร็จ แต่เราได้คำตอบให้กับความสงสัยในใจตัวเองแล้ว 

 นอกจากงานหนังสือ เขียนหนังสือ ช่วงงงๆ ชีวิต จับทางออนไลน์ไม่ถูกก็ไปเป็น บก.จำเป็น บก.รับเชิญ บก.ที่เขาว่าจ้าง เพื่อดูต้นฉบับเส้นเรื่องการเล่าเรื่อง หาจุดโหว่และปิดจุดเหล่านั้น แล้วก็รู้ว่าตัวเองไม่เหมาะกับงานแบบนี้เลย แต่ทำเพื่อหาคำตอบที่ว่า เรามีโอกาสทำไมไม่ลองทำ คิดว่ามีโอกาสแล้วได้ลองทำแล้ว ได้คำตอบที่เหมาะกับตัวเองแล้ว 

ถามว่าทำอีกไหม?

ไม่ทำค่ะ เพราะไม่ใช่ ไม่ชอบความอึดอัด ที่สำคัญงานตัวเองเรายังรื้อไม่ปราณี เราเกรงใจนักเขียน แต่เอาประโยชน์จากการทำงานตรงนี้มาสอนตัวเองดีกว่า แก้ไขงานให้ดีจะเหมาะกว่า โดยเฉพาะความมุ่งมั่น ความตั้งใจ การแบ่งเวลา ต้องบอกเลยว่าคนที่ขายงานออนไลน์ได้ ต้องขยันอดทนและอ่านตลาดออนไลน์ออก นักเขียนออนไลน์ไม่ได้ขายงานศิลป์เพียงอย่างเดียว แต่เรียนรู้และรู้จักตลาด วางแผนเก่งมาก ต้องปรับตัวให้ได้ทุกวัน สิ่งเหล่านี้ใช่ว่าจะทำกันได้ทุกคน เราก็เอาสิ่งที่เขาบอกปรับใช้กับงานเขียนของตัวเอง พัฒนาผลงานตัวเองตามที่ได้เรียนรู้จากการทำงานตรงนี้ค่ะ 

และถ้าถามว่าจำเป็นต้องมี บก.ไหม? ยืนยันว่า ควรจะมีค่ะ 

หน้าที่ของ บก.คือ การช่วยนักเขียนอุดรอยรั่วของงาน ตั้งคำถามแทนนักอ่าน แต่ไม่ใช่รีไรต์เตอร์ที่จะไปแก้งานของนักเขียนโดยนักเขียนไม่เต็มใจ ต้องปล่อยให้เขาเป็นอย่างที่เขาต้องการ อย่าไปเขียนแทนโดยนักเขียนไม่อนุญาต เพราะนั่นเสียมารยาทการทำงานอย่างยิ่ง แต่ตั้งคำถามว่าทำไมเขานำเสนอแบบนี้ แล้วมันขยายผลต่อเนื้อเรื่องด้านในหรือเปล่า เพิ่มตรงนี้ได้ไหมเพื่อให้พล็อตเรื่องมันสมบูรณ์ขึ้น ถ้าเขาไม่สะดวกก็ต้องเคารพเขา เพราะนั่นคืองานของนักเขียน เรามีหน้าที่อุดรอยรั่วและต้องเคารพการทำงานของเขาด้วยเช่นกัน 

ถ้านักเขียนไม่สะดวกมี บก.อ่านงาน อยากให้นักเขียนหาเพื่อนช่วยอ่านอีกสักท่าน หรือฟังคอมเม้นต์นักอ่านท่านอื่นด้วยใจนิ่งๆ ก็จะได้งานที่ครอบคลุมอุดจุดโหว่ของตัวเองได้ 

งานเขียนที่จบแล้ว กำลังจะเผยแพร่มีเรื่องอะไรบ้าง

งานที่จบแล้ว เผยแพร่ มีแต่ในนามปากกาพลอยมณี พลอยมณี ภีรนัย

คุณเปิ้ลพลอย เล่าเรื่องสนุกมากค่ะ นี่ทีมงานถึงกับนั่งเท้าคางอ่านกันเพลินไปเลยค่ะ ทั้งประสบการณ์ชีวิตและการทำงานของคุณเปิ้ลพลอย เป็นวัตถุดิบชั้นเลิศจริงๆ ในการนำมาสร้างสรรค์ผลงานจริงๆ ค่ะ ขอขอบคุณคุณเปิ้ลพลอย พลอยรุพีย์ มณีนัย ที่ให้เกียรติทีมงานจันทร์เจ้าเอยได้สัมภาษณ์ในครั้งนี้นะคะ

  • by ทีมงานจันทร์เจ้าเอย
  • | แวดวงหนังสือ